ลองจินตนาการดูว่า ในห้องประชุมผู้บริหารที่เคยมีแค่ CEO, CFO, CMO… ตอนนี้มี AI นั่งร่วมโต๊ะด้วย จึงมีคำว่า CAIO (Chief AI Officer) หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้าน AI กลายเป็นศัพท์ที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในยุคนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะตอนนี้หลายองค์กรระดับโลกเริ่มจริงจังกับการใช้ AI ในระดับกลยุทธ์องค์กรแล้ว ไม่ใช่แค่ในแผนก IT หรือ Marketing
ในเวที GITEX Asia 2025 ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสิงคโปร์ ผู้บริหารระดับสูงจากสององค์กรการเงินยักษ์ใหญ่ในอาเซียนอย่าง Tomasz Kurczyk, CIO จาก Prudential Singapore และ Pedro Uria-Recio, Chief Data & AI Officer จาก CIMB ได้ร่วมถกกันอย่างลึกซึ้งถึงผลกระทบของ AI ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสายงานเทคโนโลยีอีกต่อไป
Pedro จาก CIMB ชี้ให้เห็นว่า องค์กรยุคใหม่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบเดียวกับที่เคยเปลี่ยนมาใช้ “Mobile-First” เมื่อทศวรรษก่อน มาสู่แนวคิดใหม่ที่เรียกว่า “AI-First”
“ก่อนจะคิดจะออกสินค้าใหม่ บริการใหม่ หรือปรับกระบวนการใด ๆ ให้ถามก่อนว่า ‘AI ทำได้ไหม?’” – Pedro Uria-Recio
แนวคิดนี้ไม่ได้หมายถึงการแทนที่มนุษย์ด้วยเครื่องจักร แต่คือการนำ AI เข้ามาช่วยขยายขีดความสามารถของมนุษย์ โดยเฉพาะในจุดที่ต้องการความเร็ว ความแม่นยำ และการจำลองสถานการณ์ซับซ้อน
Tomasz จาก Prudential กล่าวว่า บริษัทของเขาเริ่มต้นการปรับตัวกับ AI มากว่า 2 ปีแล้ว โดยมองว่า ทักษะในการใช้ AI จะกลายเป็นทักษะพื้นฐาน เหมือนกับที่ Excel เคยเป็นในอดีต
“การใช้ AI จะกลายเป็น table stakes... ใครไม่มีทักษะนี้ ก็เหมือนทำงานในองค์กรยุคใหม่ไม่ได้”
ความน่าสนใจอยู่ที่กระบวนการ แบ่งการฝึกอบรมตามหน้าที่ (job-based reskilling) และยิ่งไปกว่านั้น เขายังพัฒนาโปรแกรมฝึก AI ให้กับคณะผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ AI เป็น “พาร์ตเนอร์ร่วมโต๊ะประชุม” ได้จริง เช่น ใช้ช่วยเตรียมข้อมูล วิเคราะห์คำถามยาก ๆ
เมื่อพูดถึงการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม Tomasz เปรียบว่า จริยธรรมก็เหมือนเข็มขัดนิรภัย มันอาจไม่ได้หยุดไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ช่วยลดความเสียหายได้มหาศาล
ทั้งสององค์กรเน้นการติดตั้งระบบ AI Governance อย่างจริงจัง ทั้งในด้านการตรวจจับ bias การออกแบบระบบตรวจสอบอัตโนมัติ (AI Ops, ML Ops) และการเปิดให้มีคณะกรรมการที่มีความหลากหลายมาช่วยตรวจสอบการตัดสินใจของ AI อย่างรอบด้าน
Pedro มองว่า AI กำลังสร้างโอกาสในการจ้างงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในด้านบริการที่ก่อนหน้านี้ธนาคารไม่สามารถทำได้ เช่น การให้คำแนะนำทางการเงินอัตโนมัติ การวิเคราะห์บัญชีเชิงลึกแบบเรียลไทม์ และการให้บริการแบบ one-on-one ผ่าน AI Agent
ในขณะที่ Tomasz มองว่า การมาของ AI อาจนำไปสู่ “ยุคเรอเนสซองส์” ของงานฝีมือ โดยเฉพาะในธุรกิจที่ต้องการความเป็นมนุษย์และความแตกต่าง เช่น แบรนด์หรูหรือบริการระดับพรีเมียม
ทั้งสองคนยอมรับว่ามี “บางคนอาจตกขบวน” โดยเฉพาะถ้าไม่มีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือหรือทักษะใหม่ ๆ ซึ่ง Pedro เสนอแนวคิดที่น่าสนใจว่า บางทีเราควรเริ่มคิดถึง “Universal Basic Assets” หรือการให้คนทุกกลุ่มมีทรัพย์สินบางอย่าง เช่น หุ้น คริปโต หรือทองคำไว้ในมือ เพื่อใช้รองรับการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจยุค AI
ข้อมูลจาก Session: CAIO Officer | AI Runs the Boardroom: How AI is Rewriting the Rules of Leadership ? จากงาน GITEX Asia 2025
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด