หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงที่ทำให้ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มลงมา ทีม iRAP จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้เร่งนำเทคโนโลยีไลดาร์ (Lidar) มาใช้ในการสร้างแผนที่ 3 มิติของพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้หน่วยงานกู้ภัยและนักวิชาการสามารถวิเคราะห์ความเสียหาย
LiDAR เป็นเทคโนโลยีที่ใช้แสงเลเซอร์ในการวัดระยะทางและสร้างแบบจำลอง 3 มิติของพื้นที่ ซึ่งทีม iRAP ได้นำโดรนและหุ่นยนต์ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ไลดาร์เข้าสำรวจพื้นที่ตึกถล่ม โดยแสงเลเซอร์ที่ส่งออกไปจะสะท้อนกลับมาพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับระยะทางและโครงสร้าง ทำให้สามารถสร้างแผนที่ 3 มิติที่มีความละเอียดสูงและครอบคลุมทุกมุมของพื้นที่
ซึ่งข้อมูลที่ได้จะช่วยให้กู้ภัยสามารถวางแผนเข้าพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและเป็นประโยชน์สำหรับวิศวกรที่ต้องการศึกษาความเสียหายของอาคาร ข้อมูลจาก LiDAR จะถูกนำไปประมวลผลและแสดงผลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ
GISTDA : 3d.gistda
ทำให้ผู้ที่สนใจหรือนักวิจัยสามารถเข้าชมและดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อนำไปศึกษาเพิ่มเติมได้
นอกเหนือจาก LiDAR ทีม iRAP ยังใช้หุ่นยนต์กู้ภัยที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ขั้นสูง สำรวจพื้นที่ที่เข้าถึงยาก หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถผ่านเข้าไปยังซากอาคารที่ถล่มได้ พร้อมเซ็นเซอร์ตรวจจับความร้อนที่ช่วยระบุตำแหน่งผู้รอดชีวิต ระบบสร้างแผนที่ 3 มิติ และแขนกลที่ช่วยเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวาง เพื่อเปิดเส้นทางให้หน่วยกู้ภัยเข้าถึงผู้ประสบภัยได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ทีมยังใช้โดรน DJI Matrice 350RTK จำนวน 2 ลำ เพื่อเก็บข้อมูลจากมุมสูงและประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาคสนามแบบเรียลไทม์ ข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้ศูนย์บัญชาการสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานในพื้นที่อันตราย และเพิ่มโอกาสในการค้นหาผู้รอดชีวิตให้ได้มากที่สุด
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด