ครั้งแรกของโลก! ไต้หวันปลูกถ่ายหัวใจที่ ‘ยังเต้นอยู่’ ได้สำเร็จ

ปลูกถ่ายหัวใจ

ครั้งแรกของโลกที่ศัลยแพทย์ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายหัวใจด้วยเทคนิคใหม่สุดล้ำ โดยหัวใจของผู้บริจาคจะ ไม่หยุดเต้นเลยแม้แต่วินาทีเดียว ตลอดทั้งการปลูกถ่าย ซึ่งช่วยลดความเสียหายต่ออวัยวะที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผ่าตัดได้ 

ทีมศัลยแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTUH) เป็นผู้บุกเบิกการผ่าตัดครั้งสำคัญนี้ ซึ่งหัวใจของผู้บริจาคยังคงทำงานสูบฉีดเลือดอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตอนนำออกจากร่างผู้บริจาคจนกระทั่งปลูกถ่ายเสร็จในร่างผู้รับ

ตามปกติแล้วเวลาจะปลูกถ่ายหัวใจ แพทย์จะนำหัวใจผู้บริจาคออกมาแช่ในน้ำยาและเก็บในที่เย็นๆ เพื่อถนอมอวัยวะซึ่งช่วงเวลานี้เรียกว่า "เวลาขาดเลือด" (ischemic time) คือช่วงเวลาที่หัวใจไม่มีเลือดไปเลี้ยง วิธีนี้มีความเสี่ยงที่หัวใจจะเสียหาย หรืออาจถูกร่างกายปฏิเสธได้

เมื่อหัวใจขาดเลือดและออกซิเจนเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มเสียหาย ซึ่งอาจส่งผลให้การทำงานของหัวใจหลังปลูกถ่ายอาจไม่ดีเท่าที่ควร แม้ปกติช่วงเวลาขาดเลือดจะไม่นานเกินสองสามชั่วโมง แต่ก็ยังสร้างความเสียหายได้อยู่ดี

ระบบ OCS ช่วยให้หัวใจเต้นต่อได้

ทีมแพทย์ NTUH เลยคิดวิธีใหม่ คือ ข้ามขั้นตอนแช่เย็นนี้ไปเลย ทำการปลูกถ่ายแบบที่หัวใจยังเต้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องมีช่วงขาดเลือดเลยแม้แต่วินาทีเดียว (zero-ischemic time)

เราอยากปลูกถ่ายหัวใจโดยไม่มีช่วงขาดเลือดเลย เพื่อให้หัวใจไม่ต้องหยุดทำงาน และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่มักเกิดขึ้นตอนที่เลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจอีกครั้งหลังการปลูกถ่าย นายแพทย์ Chi Nai-hsin กล่าว

การผ่าตัดนี้ทำได้สำเร็จด้วยเครื่องมือพิเศษที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เรียกว่า "ระบบดูแลรักษาอวัยวะ" (Organ Care System - OCS) ซึ่งเครื่องนี้จะปั๊มเลือดที่มีออกซิเจนหล่อเลี้ยงให้หัวใจเต้นอยู่ตลอดเวลา แนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่อง ECMO หรือเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอดนั่นเอง

พอต่อหัวใจเข้ากับเครื่อง OCS แล้ว ก็เคลื่อนย้ายหัวใจจากห้องผ่าตัดหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งได้ โดยที่หัวใจไม่หยุดเต้นเลย

ส่วนผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้เป็นหญิงวัย 49 ปี ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายตัวผิดปกติ (dilated cardiomyopathy) เธอผ่าตัดไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ตอนนี้ออกจากโรงพยาบาลได้แล้วและสบายดี ผลตรวจติดตามอาการหลังผ่าตัดก็ดีมาก พบว่าระดับเอนไซม์ที่บ่งชี้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต่างจากวิธีปลูกถ่ายแบบเดิมที่ค่านี้มักจะสูงขึ้น

"เราพิสูจน์แล้วว่าการผ่าตัดนี้ปลอดภัยและทำได้จริง" นายแพทย์ Chi กล่าว พร้อมเสริมว่าได้ทำการผ่าตัดแบบเดียวกันนี้สำเร็จเป็นรายที่สองแล้วเมื่อต้นปีนี้

ถึงแม้ NTUH จะเคยผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจมาแล้วเกือบ 700 ครั้ง แต่ทีมแพทย์ก็หวังว่าต่อไปจะใช้วิธีใหม่นี้กับเครื่อง OCS มากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องน่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้ในปี 2023 และ 2024 มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในอเมริกาก็เคยรายงานการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจแบบที่หัวใจยังเต้นอยู่เหมือนกัน แต่ในเคสของสแตนฟอร์ด หัวใจยังต้องหยุดเต้นเป็นช่วงสั้นๆ (ประมาณ 10-30 นาที) ตอนย้ายจากผู้บริจาคไปต่อกับเครื่องพยุงชีพ

แต่ในการผ่าตัดทั้งสองครั้งของ NTUH นั้น นายแพทย์ Chen Yih-shurng หัวหน้าทีมปลูกถ่ายอวัยวะของโรงพยาบาล ยืนยันว่า "หัวใจยังเต้นอยู่ตั้งแต่ก่อนนำออกมา เต้นต่อเนื่องหลังจากนำออกมา และไม่เคยหยุดเต้นเลย ทำให้ไม่มีช่วงเวลาขาดเลือดเลยจริงๆ"

ทีมแพทย์ NTUH บอกว่าจะพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีการดูแลอวัยวะนี้ต่อไป เพื่อให้ผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นได้ประโยชน์จากการปลูกถ่ายหัวใจแบบไม่ต้องหยุดเต้นนี้ในอนาคต

อ้างอิง: newatlas

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

CATL เปิดตัวแบตพลังงานคู่ วิ่งได้กว่า 1,500 กม. ต่อชาร์จ พร้อมแบตชาร์จเร็ว 5 นาที วิ่งได้ 520 กม.

CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เปิดตัวเทคโนโลยีเซลล์แบตเตอรี่เวอร์ชันล่าสุดภายในงาน Tech Day ประจำปีที่จัดขึ้นในเซี่ยงไฮ้...

Responsive image

รู้จัก Embedded Financing กับโอกาสขยายบริการทางการเงินในธุรกิจ ผ่าน Webinar จาก Bettr ประเทศไทย

ห้ามพลาด! Free Webinar ครั้งแรกจาก Bettr ประเทศไทย เจาะลึก Embedded Financing พร้อมเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก (MSMEs) ด้วยเทคโนโลยีการเงินที่เข้าถึงง่าย...

Responsive image

เปิดตัว 'THAI Academy' โครงการอัปสกิล AI ให้ล้านคนไทยในปี 68 โดยรัฐบาล ไมโครซอฟท์ และ 35 พันธมิตร

รวมข้อมูลและความร่วมมือจัดทำ 'THAI Academy' โครงการยกระดับพันธกิจเสริมทักษะด้าน AI ให้ครอบคลุมคนไทย 1 ล้านคน และ 'AI Skills Navigator' แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่มีหลักสูตรด้าน ...