Sasin แนะรัฐ แก้วิกฤตได้ นโยบายล็อกดาวน์ต้องชัดเจน พร้อมเผยวิธีสื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

   จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยทะลุ 11,000 คนต่อวัน และ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้เคยก้าวทะลุ140 คนต่อวันไปแล้ว (ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) ซึ่งหากดูการเพิ่มขึ้นของอัตราผู้เสียชีวิตต่อวันจะเห็นได้ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นนั้น เป็นแบบก้าวกระโดด (exponential growth) เราสามารถเห็นได้ว่าอัตราผู้เสียชีวิตต่อวันได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ สิ่งนี้เป็นสัญญาณอันตรายว่าการระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยในครั้งนี้ มีความรุนแรงกว่าครั้งก่อน ๆ มาก ในขณะนี้ คณะผู้เขียนเชื่อว่าทุกภาคส่วน ได้มีความตระหนักอย่างแท้จริงถึงความรุนแรงของการระบาดในครั้งนี้ และพยายามที่จะช่วยกันลดการระบาด “เท่าที่กำลังของตนหรือฝ่ายตน” จะสามารถทำได้ (ในบริบทของแต่ละคน) คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายควรร่วมแรงร่วมใจ ใช้พลังเชิงบวกในการแก้ปัญหา โดยรัฐต้องเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต้องสื่อสารให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

ล็อกดาวน์ยิ่งเข้มข้น ยิ่งเร็ว ยิ่งดี

งานวิจัยของ Kavakli (2020) พบว่า มีหลายประเทศในโลกที่เริ่มใช้การล็อกดาวน์ในระดับที่มีความเข้มข้นน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นเมื่อสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น โดยสาเหตุหลัก เป็นเพราะประเทศเหล่านี้ ไม่อยากให้การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ(ที่บอบช้ำอยู่แล้ว) จึงหวังว่าการใช้มาตรการในระดับเบานั้น อาจจะเพียงพอและสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจที่อาจจะรุนแรงเกินความจำเป็นได้ และไม่อยากให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ได้รับความลำบากและไม่พอใจกับการบริหารประเทศ อย่างไรก็ดีการตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคนั้น ได้ถูกกระทบจากความกลัวในสถานการณ์ของการระบาดอยู่แล้ว ซึ่งบทความของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) (2020) แสดงให้เห็นว่าการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นและเข้มงวดดีกว่าการล็อกดาวน์แบบเบาๆและไม่เข้มงวด ทั้งในด้านการควบคุมการระบาดและในด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการล็อกดาวน์ที่ไม่เข้มงวดทำให้ระดับจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองเพราะยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอยู่ ในขณะที่การล็อกดาวน์แบบเข้มงวดจะใช้เวลาควบคุมโรคที่สั้นกว่าโดยจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากกรณีไม่เข้มงวดเพียงเล็กน้อย แต่จะทำให้การติดเชื้อลดลงอย่างมากและเร็ว จะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ล็อกดาวน์จะดีต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน 

ก่อนที่จะมีการประกาศล็อกดาวน์ รัฐต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน เพื่อให้การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนปฏิบัติตามได้และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการในด้านสภาพคล่องของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งได้ทำในหลายๆประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศฝรั่งเศส

  1. มาตรการพักหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการที่รวดเร็วและไม่มีขั้นตอนซับซ้อน 
  2. เสริมสภาพคล่องให้ประชาชนในด้านปัจจัย 4 
  3. พักชำระการจ่ายภาษีของประชาชนและผู้ประกอบการและเมื่อสถาณการณ์ดีขึ้นประชาชนและผู้ประกอบการสามารถจ่ายภาษีของปีที่ผ่านมาแทนในปีถัดไป 
  4. ช่วยผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบจ่ายค่าแรงลูกจ้างในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดและไม่ต้องให้พนักงานออก 
  5. เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการทุกขนาดที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบิน และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
  6. อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้าร่วมโครงการแก้วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ของรัฐ (เช่น โครงการแปลงโรงแรมเป็น Alternative State Quarantine) ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส เพื่อเป็นรายได้ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการและพนักงาน

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการที่รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน และโปร่งใส รวมถึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจนซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

สื่อสารดี มีชัยไปกว่าครึ่ง 

องค์ประกอบหนึ่งที่หลาย ๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ชัดเจน คือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ หากอ้างอิงงานวิจัยของ Hyland-Wood และคณะ (2021) ที่ได้ทำการศึกษาและรวบรวมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤตของรัฐบาล โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นหลัก ดังนี้

  1. สื่อสารอย่างชัดเจนและครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและทำให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน เช่น สื่อสารว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้ความสนับสนุนแก่ประชานชนที่จะตอบสนองต่อนโยบายต่างๆของรัฐ ในทิศทางที่ชัดเจนและไม่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่ออกมาจากหน่วยงานของรัฐต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกัน ถูกต้อง ชัดเจน และปราศจากความสับสน
  2. สื่อสารข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เช่น หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแพทย์และมีผลกระทบในวงกว้าง ให้นักวิทยาศาสตร์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือและเชี่ยวชาญ เข้าร่วมแถลง
  3. สื่อสารอย่างมีความเห็นอกเห็นใจ จริงใจและซื่อสัตย์ เช่น แสดงออกถึงความเข้าใจถึงปัญหาและสื่อสารออกไปอย่างเห็นอกเห็นใจ และสื่อสารด้วยคำพูดเชิงบวก
  4. สื่อสารถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น ในสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นความไม่แน่นอนในสิ่งต่างๆอาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และก็ควรสื่อสารออกไป เพื่อสร้างความคาดหวังที่ถูกต้อง
  5. สื่อสารโดยตระหนักถึงพื้นฐานและความเข้าใจของผู้ฟัง ซึ่งจะสามารถช่วยให้นโยบายต่างๆของรัฐดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ควรสื่อสารโดยยกตัวอย่างแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้าใจผิด 
  6. สื่อสารถึงโดยตระหนักถึงบรรทัดฐานทางสังคมและความหลากหลายและแตกต่างกันของกลุ่มคนในสังคม เช่น คำนึงถึง แรงงานต่างด้าว ผู้สูงอายุ หรือ เด็กและเยาวชน 
  7. สื่อสารเชิงรุกต่อข้อมูลเท็จ เช่น ต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และดำเนินคดีกับผู้ให้ข้อมูลเท็จอย่างเด็ดขาด

ในด้านการสื่อสาร รัฐต้องตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกนโยบายใดๆจะต้องมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ บทความของ IMF (2020) พบว่าการที่ประชาชนรับทราบถึงภาวะวิกฤติ จะช่วยให้ประชาชนตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังตนเองมากยิ่งขึ้น ลดการเคลื่อนที่และให้ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดการระบาด ดังนั้นการนำเสนอข่าวที่เป็นความจริง แม้ว่าจะทำให้เกิดความหวาดกลัว แต่ความหวาดกลัวที่เกิดจากความจริง เป็นสิ่งที่ดี ไม่ควรห้าม สุดท้ายนี้ ฝ่ายที่มีหน้าที่หาวัคซีน ควรเร่งหาวัคซีนเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้วัคซีนอย่างทั่วถึง มีวัคซีนดีกว่าไม่มี ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแบบไหนก็ควรฉีดไปก่อนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

บทความนี้เขียนโดย

รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส
ผศ.ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ
ผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ
ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์
คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...