EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV ในช่วงครึ่งหลังปี 2563 ฟื้นตัวช้ากว่าคาดจากผลกระทบของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อและความเสี่ยงรายประเทศที่สูงขึ้น

แม้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ผลจากการบังคับใช้มาตรการปิดเมือง (lockdown) ที่เข้มงวด บวกกับผลกระทบจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ส่งผลกระทบทำให้อุปสงค์ในประเทศของกลุ่ม CLMV ชะลอตัวลงเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV น่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ยังคงซบเซาตามอัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น การระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศที่ยังสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมาตรการปิดประเทศที่ยาวนานต่อเนื่อง รวมถึงความเสี่ยงรายประเทศที่มีสูงขึ้น เช่น การส่งออกของประเทศกัมพูชาอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการถูกถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms บางส่วนโดยสหภาพยุโรป, ผลกระทบจากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของลาว (สู่ระดับ Caa2 และ Negative Outlook โดย Moody’s อ้างถึงความสามารถในการระดมทุนของลาวที่มีความเสี่ยงสูง) ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อจำกัดเพิ่มเติมในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป, การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน อาจก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบายและการเมือง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามอาจชะลอลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งใหม่ในหลายเมืองเศรษฐกิจหลัก ด้วยปัจจัยดังกล่าว EIC ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV ในปี 2563 ลงเพิ่มเติมทุกประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะหดตัว -3.0% ขณะที่ ลาว เมียนมา และเวียดนามจะชะลอตัวอย่างมีนัยที่ 0.5%, 1.5% และ 2.3% ตามลำดับ 

เศรษฐกิจ CLMV จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังมีแนวโน้มซบเซาและฟื้นตัวช้ากว่าคาด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศคู่ค้าหลัก ภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจกัมพูชา (18.2% ของ GDP) และเวียดนาม (12.0% ของ GDP)  ได้รับผลกระทบอย่างมากและคาดว่าจะซบเซาต่อเนื่องตลอดทั้งปี เนื่องจากหลายประเทศยังคงมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดอีกระลอกของ COVID-19 โดยการฟื้นตัวอย่างมีนัย น่าจะต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย ขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ในประเทศคู่ค้าหลัก อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกสำคัญของเศรษฐกิจ CLMV เช่น เครื่องนุ่งห่ม ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าวัตถุดิบ ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและรายได้ครัวเรือนที่ลดลงทั่วโลก ทั้งนี้สินค้าส่งออกบางกลุ่มของเศรษฐกิจ CLMV อาจได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและอุปสงค์สำหรับสินค้าเพื่อการทำงานที่บ้าน(work-from-home) ที่ยังแข็งแกร่ง โดยเวียดนามคาดว่าจะได้รับอานิสงค์สูงสุดจากปัจจัยดังกล่าว สำหรับการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศยังคงแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในภาคการผลิต จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกและรายได้ของบริษัทข้ามชาติที่ลดลง 

 อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากอัตราการว่างงานที่เร่งสูงขึ้นและรายได้จากการโอนเงินกลับประเทศ(Remittances) ที่ลดลง รวมถึงความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของ COVID-19 โดยในไตรมาส 2/2563 อัตราการว่างงานของประเทศเวียดนามเร่งสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2.7% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ปี 2554 และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการที่ธุรกิจต่าง ๆ ชะลอการจ้างงานหลังหลายธุรกิจต้องปิดตัวลงหรือลดขนาดกิจการ โดยรายได้ภาคครัวเรือนที่ลดลงได้ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวอย่างมีนัยสะท้อนจากยอดค้าปลีกของเวียดนามที่หดตัว -6.6%YOY ในไตรมาสที่ 2/2563 (เทียบกับ 3.5%YOY ในไตรมาสที่ 1/2563) รวมถึง Google Mobility Data สำหรับร้านค้าปลีกและนันทนาการ ซึ่งยังคงอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 อย่างมีนัย และการฟื้นตัวมีสัญญาณช้าลงในช่วงหลัง (Stalling Recovery) ขณะเดียวกันรายได้จากการโอนเงินกลับประเทศของแรงงาน CLMV ที่ทำงานในต่างประเทศ ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของครัวเรือนในกลุ่มประเทศ CLMV (คิดเป็น 1.6-6.5% ของ GDP) ก็น่าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัย จากแรงงาน CLMV ที่ถูกเลิกจ้างหรือได้รับรายได้น้อยลง สะท้อนจากจำนวนแรงงาน CLM ในประเทศไทยที่ลดลงกว่า 4.7 แสนคนในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 (จาก 2.72 เป็น 2.25 ล้านคน) นอกจากนั้นความเสี่ยงของการกลับมาระบาดของ COVID-19 ซึ่งอาจทำให้มีการกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดขึ้น เช่นในเวียดนาม
ยังเป็นความเสี่ยงหลักต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศอีกด้วย

 นโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายจะถูกใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ลาวอาจเริ่มเผชิญข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลังเพิ่มเติม โดยในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐของ CLMV ได้ผ่อนคลายนโยบายอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการโอนเงินเยียวยา มาตรการลดภาษี อย่างไรก็ดี ประสิทธิผลของมาตรการเหล่านี้อาจถูกจำกัดจาก 1) ภาคเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Economy) ขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลให้มาตรการการลดภาษีมีผลไม่ทั่วถึง และ 2) ขีดความสามารถในการทำนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ที่เริ่มมีจำกัด หลังจากที่ผ่านมานอกจากรายได้ภาครัฐที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังมีการออกมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลให้การขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น โดยลาวมีความเสี่ยงด้านขีดความสามารถในการทำนโยบายการคลัง ค่อนข้างมากจากทั้งหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง (60.6% ของ GDP) และต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐที่จะสูงขึ้นหลังจากถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ   

 การชะลอตัวของเศรษฐกิจ CLMV อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเชิงโครงสร้าง (Structural Vulnerabilities) ในระยะถัดไป ความเสี่ยงแรกคือระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจากรายได้ภาครัฐที่ลดลงและรายจ่ายที่สูงขึ้น โดยในปี 2562 อ้างอิงจากข้อมูลของ IMF ลาวมีระดับหนี้สาธารณะสูงสุดที่ 60.6% ของ GDP รองลงมาคือ เวียดนาม (42.9%), เมียนมา (38.2%) และกัมพูชา (28.5% แต่เกือบทั้งหมดเป็นหนี้ต่างประเทศ) ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV อาจต้องพึ่งการกู้เงินแบบทวิภาคีหรือจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อระดมทุนในการใช้จ่าย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศสูงขึ้นและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจ CLMV มีความอ่อนไหวต่อการอ่อนค่าของเงินสูงขึ้น โดยแรงกดดันด้านการอ่อนค่าของสกุลเงินประเทศ CLMV ในปี 2563 น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวโน้มที่จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงขึ้นจากรายได้ของการส่งออกและท่องเที่ยวที่หดตัว นอกจากนั้น หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวอย่างมากยังทำให้เศรษฐกิจ CLMV มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเพิ่มเติมได้ โดยในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา เวียดนามถูก Fitch rating ปรับลด outlook จาก positive เป็น stable แต่ยังคงระดับความน่าเชื่อถือที่ BB ในขณะที่ ล่าสุด ลาวถูก Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสู่ระดับ Caa2 และมีแนวโน้มเชิงลบ (Negative Outlook) โดยอ้างถึงความสามารถในการระดมทุนของลาวที่มีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงที่สองคือหนี้ด้อยคุณภาพ (non-performing loans) ที่อาจเร่งสูงขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน จากการ
ฟื้นตัวที่มีแนวโน้มแบบค่อยเป็นค่อยไปรวมถึงอัตราการว่างงานที่เริ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้คุณภาพของสินเชื่อมีความเสี่ยงมากขึ้นในระยะข้างหน้า

 การชะลอตัวของเศรษฐกิจ CLMV ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านทางการค้าในภูมิภาค การท่องเที่ยว การจ้างแรงงานต่างด้าว และการลงทุนทางตรงของไทย ในด้านการค้าส่วนภูมิภาคและการค้าชายแดน (border trade) ทั้งการนำเข้าและส่งออกกับกลุ่มประเทศCLMV โดยรวมหดตัวในไตรมาสสอง (มูลค่าการส่งออกของไทยไป CLMV หดตัว -25.8%YoY เทียบกับ 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 1) และมีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดในเดือนเมษายนแต่การฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยล่าสุดมาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองระยะที่ 5 ของไทย แม้จะมีการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทย และ CLM ทั้งสิ้น 29 จุด แต่ภายใต้มาตรการตรวจสอบที่ยังเข้มงวดและการชะลอตัวอย่างมีนัยของเศรษฐกิจในภูมิภาค การฟื้นตัวของการค้าชายแดนในช่วงครึ่งหลังของปีก็น่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ เช่นกัน ในขณะเดียวกัน นโยบายจำกัดการเดินทางส่งผลให้ทั้งการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคและการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวกลุ่ม CLM หยุดชะงัก ทั้งนี้ภายใต้มาตรการผ่อนคลายการปิดเมืองระยะที่ 6 ของไทยได้มีการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและอาหารกลับเข้ามาทำงานได้ แต่ข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายในการกักตัวของแรงงานต่างด้าวอาจทำให้การฟื้นตัวของจำนวนแรงงานเป็นไปอย่างจำกัด รวมทั้งการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับการอนุญาตให้มีการ
เดินทางเข้าออก ท้ายที่สุดการลงทุนทางตรงสุทธิของไทยในกลุ่ม CLMV ในช่วงมีนาคม-พฤกษภาคม ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยล่าสุดแม้เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในเดือนพฤษภาคม แต่ยังคงเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และเป็นการลงทุนในเวียดนามเป็นหลัก

 

เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงรายประเทศและความเสี่ยงเชิงโครงสร้างแล้ว การฟื้นตัวคาดว่าจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก EIC คาดว่าแม้จะมีผลจากฐานที่ต่ำในปีนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2564 จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเดิมระหว่าง 5-7% และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำค่อนข้างมาก ทั้งนี้ EIC ยังคงมุมมองว่าเศรษฐกิจ CLMV ในระยะปานกลางยังคงมีศักยภาพสูงจากกลุ่มผู้บริโภคที่อายุน้อยและขยายตัวเร็ว รวมถึงแนวโน้มจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งเวียดนามน่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์ด้านนี้มากที่สุดจากการมีชายแดนและการขนส่งทางบกที่ติดต่อกับจีน และการมีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับหลายประเทศรวมถึงล่าสุดกับสหภาพยุโรป บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7015

 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...