Facebook ขับเคลื่อนโอกาสและความเท่าเทียมสตรีภาคใต้ เน้นส่งเสริมความรู้เชิงดิจิทัล

วันสตรีสากลปีนี้ให้ความสำคัญกับการยกย่องผู้หญิงพร้อมกับแนวคิดของความเท่าเทียม โดยธีม #EachforEqual สนับสนุนแนวคิดที่ว่าโลกที่เท่าเทียมคือโลกที่ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้า ในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องสำคัญในการยกย่องบรรดาผู้นำธุรกิจที่มีความยอดเยี่ยม ซึ่งใช้แพลทฟอร์มของ Facebook ในการเอาชนะทัศนคติและอุปสรรคต่างๆ เพื่อสร้างหนทางสู่โลกที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น

การยกย่องดังกล่าวมีความสำคัญเป็นพิเศษโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการที่โดดเด่นไม่ได้เป็นเพียงผู้นำธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับชุมชนของพวกเขาอีกด้วย

ก้าวผ่านความขัดแย้งกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับกลุ่มสตรีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ดำเนินมาราว 15 ปี ส่งผลกระทบมากมายต่อคนในพื้นที่ หนึ่งในกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้หญิง ซึ่งพวกเธอต้องปรับตัวเป็นอย่างมากกับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อสถานภาพของตัวเองจากแม่บ้านที่ดูแลความเรียบร้อยของสมาชิกในครอบครัว มาเป็นหัวเรือใหญ่ที่ต้องแบกรับภาระการหารายได้หลักเพื่อใช้จ่ายในบ้าน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม ‘วานีตา’ เกิดขึ้นมาจากความเชื่อที่ว่าเรื่องราวของวิถีชีวิตและความภาคภูมิใจของผู้หญิงควรได้รับการบอกเล่า และสินค้าจากกลุ่มอาชีพผู้หญิงควรได้รับการส่งเสริม รวบรวม และทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา มีสมาชิกราว 1,000 คน จากกลุ่มผู้หญิง 58 กลุ่มในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และใน 4 อำเภอชายแดนสงขลาซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ได้แก่ อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา โดยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ 4 ประเภท ได้แก่ อาหาร เครื่องแต่งกาย เครื่องจักสาน และงานหัตถกรรมต่างๆ

คุณอามีเนาะห์ หะยิมะแซ ประธานวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตา กล่าวว่า “เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ช่วยสร้างพื้นที่ให้คนในชุมชนขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้จริง หน่วยงานรัฐหลายๆ แห่งต่างรู้สึกทึ่งที่พวกเราสามารถทำได้สำเร็จ และเราสามารถเปลี่ยนวิธีคิดของพวกเขาได้ จากในตอนแรกที่อาจจะมีความกังวลว่ากลุ่มของเรายังเด็กเกินกว่าที่จะทำงานร่วมกันได้ แต่เราได้พิสูจน์ตัวเราเองและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี”

โซเชียลมีเดียเพิ่มโอกาส

สำหรับวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม ‘วานีตา’ การใช้งานแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยทั่วประเทศ และได้ตัดสินใจใช้ Facebook เป็นช่องทางการตลาดหลัก โดยเพจของวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของความเป็นชุมชนของกลุ่มและใช้เนื้อหารูปภาพที่เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์เพื่อแสดงผลงานที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยสมาชิกของกลุ่ม

นอกจากนี้ ยังใช้ Facebook เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของพวกเขาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยตั้งแต่เริ่มต้นใช้งาน Facebook เป็นหน้าร้านออนไลน์ วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาสามารถเปิดโอกาสให้กับตนเองและขยายธุรกิจให้เติบโต ซึ่งเหนือกว่าการขายแบบที่ลูกค้าต้องเดินทางไปยังร้านค้าขนาดเล็กของพวกเขาในตัวเมืองของจังหวัดปัตตานีหรือตามตลาดในท้องถิ่นต่างๆ พวกเขายังใช้ฟีเจอร์ Shop ของ Facebook ในการสร้างรายการสินค้าคุณภาพทั้งหมด และนำรายได้จากการขายกลับคืนสู่กลุ่มวิสาหกิจโดยตรง รวมถึงสมาชิกภายในชุมชนและกลุ่มผู้หญิงที่พวกเขาให้ความดูแล

พวกเขายังเป็นหนึ่งในธุรกิจจำนวนมากมายในประเทศไทยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของการซื้อขายสินค้าผ่านการแช็ทออนไลน์ (Conversational Commerce) ในภูมิภาค ด้วยการตั้งค่าปุ่มกด Click-to-Messenger ที่ช่วยตอบคำถามที่พบบ่อยให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม และให้คำแนะนำกับพวกเขาตลอดประสบการณ์การซื้อสินค้า

ผู้ประกอบการวัย 7 ปี ผู้ชื่นชอบการวาดภาพภูเขาและท้องทะเลของจังหวัดตรัง

ประสบการณ์ของผู้ชมเป็นสิ่งที่เด็กหญิงเคสิยาห์ ชุมพวง หรือ ‘วินนี่’ คำนึงถึงอยู่เสมอ ในปัจจุบัน วินนี่มีอายุเพียง 7 ปีและยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย ผลงานศิลปะแนวภาพวาด abstract (นามธรรม) ของวินนี่มีแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติในจังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ห่างไกลความเร่งรีบและวุ่นวายของชีวิตสังคมเมือง

ความสนใจในศิลปะของวินนี่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอมีอายุ 3 ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเด็กชายวจนะ ชุมพวง หรือ ‘ฮีโร่’ พี่ชายวัย 8 ปีของเธอ ครอบครัวของวินนี่ค้นพบพรสวรรค์อันโดดเด่นของเธอในระหว่างการจัดงานศิลปินแห่งชาติสัญจร ณ หอศิลป์อันดามันในจังหวัดกระบี่ เมื่อเธอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีสีสันสดใสอย่างสนุกสาน และได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการแข่งขัน (ในขณะที่ฮีโร่ชนะรางวัลเหรียญทองในครั้งนั้น) จากนั้นเพียงไม่นาน ศิลปินตัวน้อยก็เกิดความคิดว่าเธออยากจะสวมใส่ผลงานศิลปะที่เธอสร้างสรรค์ขึ้น จึงเกิดการพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์เสื้อผ้าแฟชั่นภายใต้แบรนด์ Keziah

สำหรับครอบครัวของวินนี่ ผลิตภัณฑ์ของ Keziah สะท้อนให้เห็นถึงหลักปรัชญาที่มาจากจินตนาการ ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยอายุ สถานะทางสังคม เพศ เชื้อชาติ หรือสถานที่ ด้วยการยึดถือปรัชญาเช่นนี้ ทำให้พวกเขาเลือกใช้ Facebook เป็นช่องทางออนไลน์หลักในการแสดงวิสัยทัศน์ของพวกเขาสู่โลกภายนอก

ในปัจจุบัน เพจ Facebook ของ Keziah มียอดผู้ติดตามกว่า 2,900 คน และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง Facebook ไม่เพียงมอบพื้นที่ให้กับแบรนด์ Keziah ในการโปรโมทและจำหน่ายชิ้นงาน แต่ยังเปิดให้โอกาสให้แบรนด์สามารถสื่อสารกับลูกค้าจากทั่วโลกได้โดยตรงผ่าน Messenger ในขณะที่เครื่องมืออื่นๆ อย่างฟีดข่าวและ Stories ยังช่วยให้พวกเขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตประจำวันของครอบครัวเพื่อสร้างความรู้สึกถึงการเป็นชุมชนมากขึ้น

วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาและแบรนด์ Keziah คือตัวอย่างของกลุ่มผู้หญิงและเจ้าของธุรกิจยุคใหม่ในภาคใต้ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตด้วยพลังของชุมชนและการสนทนา

ที่ Facebook เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างโลกที่มีความเท่าเทียมด้วยการสนับสนุนผู้หญิงผ่านโครงการต่างๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการด้านการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ การเชื่อมต่อ และชุมชน ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้หญิงให้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ

เพิ่มพื้นที่ให้ผู้หญิงผ่านโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลของ Facebook

Boost with Facebook เป็นโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลในประเทศไทยที่ Facebook ดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเชียโดยเปิดตัวไปเมื่อปี 2562 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนามย่อมท้องถิ่นในการสร้างธุรกิจของพวกเขาให้เติบโต ในปี 2562 มีสตรีที่ร่วมโครงการซึ่งได้เข้ารับการฝึกอบรมอยู่ที่ร้อยละ 59 และมีสตรีผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมในภาคใต้ของประเทศไทยร้อยละ 68

จากผลการศึกษา “อนาคตของธุรกิจ” (Future of Business) เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Facebook ธนาคารโลก และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่ร่วมกันสำรวจธุรกิจขนาดเล็กจำนวนหลายล้านรายจากทั่วโลกที่ใช้งาน Facebook พบว่าร้อยละ 51 ของผู้นำธุรกิจในประเทศไทยที่ตอบแบบสำรวจเป็นผู้หญิง และร้อยละ 40 ตอบว่าพวกเธอต้องการที่จะเป็นเจ้านายตัวเอง

นอกจากนี้ ผู้นำสตรีเหล่านี้ยังกล่าวถึงบทบาทสำคัญของโซเชียลมีเดียที่มีต่อธุรกิจของพวกเขา โดยร้อยละ 90 เชื่อว่าโซเชียลมีเดียมีประโยชน์ต่อการลงทุนของพวกเธอ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าผู้นำธุรกิจที่เป็นผู้ชาย นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจหญิงยังมีมุมมองเชิงบวกต่อธุรกิจของพวกเธอในอนาคต โดยร้อยละ 26 บอกว่าพวกเธอคาดหวังว่าธุรกิจจะมีอัตราการเติบโตที่มากกว่าค่าเฉลี่ยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่ทำธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านการเติบโตและการเงินต่างๆ แม้ว่าร้อยละ 69 จะมีประสบการณ์การทำงานในสายงานของพวกเธอมากกว่า 2 ปี ร้อยละ 88 ของผู้หญิงที่เป็นผู้นำธุรกิจในประเทศไทยเป็นผู้นำในองค์กรที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คนและมักจะมีธุรกิจขนาดที่เล็กกว่าผู้นำธุรกิจที่เป็นชาย โดยมีเพียงร้อยละ 17 ที่รายงานว่าพวกเธอมีโอกาสเข้าถึงการกู้ยืมเงินหรือวงเงินสินเชื่อ ซึ่งแตกต่างจากผู้นำธุรกิจชายที่มีโอกาสในการเข้าถึงอยู่ที่ร้อยละ 31

คุณชนัญญา คุณวัฒนการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า “ในทุกแพลทฟอร์มของเรา เราได้พบเห็นผลกระทบเชิงบวกที่กลุ่มผู้หญิงสามารถสร้างสรรค์ให้กับชุมชนของตนเอง เมื่อผู้หญิงได้รับสิทธิและพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และโอกาสในการสร้างธุรกิจ การริเริ่มความเคลื่อนไหวทางสังคม ไปจนถึงการสนับสนุนซึ่งกัน Facebook มุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับความสำเร็จของผู้นำธุรกิจ เช่น วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมวานีตาและแบรนด์ Keziah ในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้า และมีส่วนช่วยในการสร้างสรรค์โลกที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น ผ่านการเชื่อมต่อ ให้คำแนะนำ การฝึกอบรม และการช่วยเหลือชุมชน”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก “Better AI” จากโรงพยาบาลกรุงเทพ AI เปลี่ยนวงการสุขภาพ ด้วย 3 ฟีเจอร์เด่น

รู้จัก Better AI จากโรงพยาบาลกรุงเทพ กับ 3 ฟีเจอร์สุดล้ำที่ช่วยสรุปบทความสุขภาพให้ฟัง จับเทรนด์สุขภาพล่าสุด และแนะนำแพทย์ที่เหมาะกับคุณ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน...

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...