ไขรหัสบล็อกเชน ผ่านหลักสูตร 'Geeks on the Block (Chain)'

ไขความลับหลักสูตร 'บล็อกเชนหนึ่งเดียวของไทย ที่เน้นผลิตบุคคลากรสาย 'บล็อกเชนผ่านสถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ภายใต้หลักสูตร 'Geeks on the Block (Chain)' ด้วยการดึงนักเทคโนโลยีบล็อกเชนแถวหน้าของเมืองไทยที่มีผลงานระดับชาติ เข้ามาร่วมทีมสอนแบบทั่วถึงตลอดหลักสูตรกระชับแต่เข้มข้น ในระยะเวลาเพียง 7 ครั้ง จบออกมารับงานบล็อกเชนได้เลย

ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X โดย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และนายกสมาคมThailand Tech Startup Association (สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่) ผู้พัฒนาหลักสูตร  เปิดเผยว่า ปัจจุบันเวลาที่นักเขียนโปรแกรมต้องการเรียนรู้โปรแกรมใหม่ๆ เราสามารถลองเล่นเองและเรียนรู้จากการโหลดลงมา หาความรู้จากโลกออนไลน์ก็เข้าใจโปรแกรมนั้นๆ ได้

แต่แนวคิดของบล็อกเชนแตกต่างออกไป จากเดิมที่ฐานข้อมูลทั้งหมดจะวิ่งเข้ามาส่วนกลางเพื่อทำการตัดสินใจซึ่งเราเรียกว่า Centralized แต่บล็อกเชนฐานข้อมูลในการตัดสินใจจะเป็นแบบกระจาย Decentralized  ดังนั้นการออกแบบบล็อกเชนจึงแตกต่างจากวิธีออกแบบโปรแกรมเดิม ซึ่งการที่นักออกแบบโปรแกรมจะเข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นจะต้องใช้เวลานาน

หลักสูตรนี้จะเป็นทางลัดในการเรียนรู้ในการออกแบบโปรแกรมของ บล็อกเชน ซึ่งเมื่อผู้เรียนได้หลักคิดแล้ว ภาษาที่ใช้เขียนก็เป็นภาษาปกติที่คุ้นเคย การเขียนโปรแกรมก็จะทำได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น แน่นอนว่าหลักสูตรนี้ ยังให้ผู้เรียนได้เข้าใจหลักคิดอย่างถ่องแท้ ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนว่าเหมาะกับธุรกิจแบบไหน โปรแกรมมิ่งแบบไหน หรือการใช้งานแบบไหน โดยจะสอนตั้งแต่ฐานคิดเลยว่า หลักคิดเบื้องต้นเป็นอย่างไร  กรณีศึกษาเป็นอย่างไร และจะออกแบบหลักคิดอย่างไร

ในส่วนของวิทยากรจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชนแถวหน้าของเมืองไทยทั้งหมด นับตั้งแต่ ดร.ภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบการรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ โดดเด่นด้วยผลงานการออกแบบ National Digital ID มีส่วนร่วมในการใช้นำบล็อกเชนมาใช้งานในระดับประเทศ อีกทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านการทำ ICO ให้กับ ก.ล.ต. อีกด้วย

ซึ่ง ดร.ภูมิ จะมาสอนวิธีคิดเชิงดีไซน์ ทั้งหมดของกระบวนการออกแบบโปรแกรมบล็อกเชน  หลักคิดเชิงบล็อกเชน หลักปรัชญาของบล็อกเชน พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ในหลักคิดของการออกแบบบล็อกเชน

ขณะที่ นายสถาพน พัฒนะคูหา CEO & Founder, SmartContract และ BlockM.D.และรองนายกสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญแถวหน้าของเมืองไทยด้านบล็อกเชนและ Smart Contact หรือสัญญาอัจฉริยะ   จะมาสอนเรื่องราวของเทคโนโลยี อีเธอเรียม ซึ่งเป็นโครงสร้างหนึ่งที่สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นแบบกระจายศูนย์สู่บล็อกเชนได้ แทนที่จะรับ-ส่งได้เพียงแค่บิทคอยน์แบบเดิมเท่านั้น

โดยนายสถาพน จะมาสอนทั้งหมดของกระบวนการนำเทคโนโลยี อีเธอเรียม ( Ethereum ) ซึ่งเป็น Infrastructure รูปแบบหนึ่งบนพื้นฐานของบล็อกเชน ตั้งแต่การออกแบบ การเริ่มงานบนอีเธอเรียม แนวคิดในการนำเทคโนโลยีอีเธอเรียมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนแนวทางการพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่โปรแกรมที่ต้องการ

นอกจากนี้ยังมีนายญาณวิทย์ รักษ์ศรี Principal Visionary Architect KBTG ผู้เชี่ยวชาญจาก กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ในเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการทำระบบหนังสือค้ำประกันขึ้นไปอยู่บนบล็อกเชนของไอบีเอ็มได้สำเร็จ โดยจะมาสอนเกี่ยวกับวิธีคิดการนำเทคโนโลยี ไฮเปอร์เลดเจอร์ (Hyperledger) มาใช้

เนื้อหาและระยะเวลาของหลักสูตร "Geeks on the Block Chain" จะเริ่มสอนวันแรกเรื่องหลักคิดบล็อกเชน วันที่สองเทคโนโลยีไฮเปอร์เลดเจอร์ และวันที่สามจะสอนเรื่องอีเธอเรียม แบบ วันติดต่อกัน เพื่อให้ได้หลักคิด รูปแบบเครื่องมือ และตัวอย่างการนำไปใช้ หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่การเรียนสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งจะเป็นการเล่ากรณีศึกษาที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆในเชิงลึก

เช่น National ID ที่เกิดขึ้นออกแบบอย่างไร ทำไมถึงเลือกใช้เทคโนโลยีนั้น หรือกรณีของพาวเวอร์ เลดเจอร์ (Power Ledger) การออกแบบโปรแกรมที่ใช้ในการบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของออสเตรเลีย ที่เข้ามาต่อยอดจริงแล้วกับโครงการแสนสิริในประเทศไทย ซึ่งจะมาเล่าว่ามีแนวทางการออกแบบ ระบบการซื้อ-ขาย และวิธีการประยุกต์ใช้ แบบลงลึกในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีการติดต่อกับอีกหลายตัวอย่างกรณีศึกษาระดับชาติ เพื่อเข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย อาทิเช่น โครงการอินทนนท์ (Project Inthanon) ซึ่งเป็นโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับพันธมิตร เพื่อทดสอบการนำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินไทย  ภายใต้สกุลเงินดิจิทัลกลางซึ่งจะใช้ในการกระทบยอดการโอนเงินระหว่างธนาคารที่ชื่อว่า 'อินทนนท์'

อีกทั้งยังมีกรณีศึกษาของข้อมูลสุขภาพ บล็อกเอ็มดี (BlockM.D.) หรือเคสของ  "กระต๊อบ" ในการพัฒนาระบบซื้อ-ขายตั๋วบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะมาบอกเล่าว่า การออกแบบเป็นอย่างไร โครงสร้างการออกแบบเป็นอย่างไร เบื้องหลังเทคโนโลยีเป็นอย่างไร บล็อกเชนเข้ามาช่วยให้ดีขึ้นอย่างไร เราจะไม่บอกว่าต้องใช้บล็อกเชน แต่เราต้องหาคำตอบว่าทำไมต้องบล็อกเชน ถ้าไม่ใช่บล็อกเชนมันทำได้ไหม

ทุกโครงการที่นำมาเล่าเป็นโครงการที่ทำด้วยบล็อกเชน บนพื้นฐานของเหตุผลว่าทำไมต้องใช้บล็อกเชนในการทำ ซึ่งการรับรู้กรณีศึกษาที่มากพอ จะช่วยทำให้เราวิเคราะห์ ออกแบบและสร้างสรรค์ ตลอดจนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในอนาคตได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีความเข้าใจในเหตุผลของเทคโนโลยีที่ถูกต้อง ผู้เข้าอบรมจึงสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง  ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับรู้เชิงลึก

ขณะที่ในสัปดาห์ท้ายๆ ผู้เข้าอบรมจะต้องจับกลุ่มออกแบบและเขียนโปรแกรมบนเทคโนโลยีบล็อกเชนขึ้นมาจริงๆ แล้วทำการรีวิวให้คณะกรรมการได้รับทราบ เพื่อประเมินความสามารถของผู้เรียน ในการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบว่ามีแนวคิดการออกแบบและเลือกใช้เทคโนโลยีถูกต้องหรือไม่ การประยุกต์ใช้เหมาะสมเพียงใด ตลอดจนการเลือกใช้ภาษาในการเขียนบล็อกเชนนั้นๆมีความเหมาะกับเทคโนโลยีเพียงใด ท้ายที่สุดประสิทธิภาพของบล็อกเชนนั้นๆตอบโจทย์ได้อย่างไร

โดยผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องสามารถเขียนโปรแกรมได้แล้ว มีความชำนาญในการเขียนโปรแกรมในระดับหนึ่ง เนื่องจากหลักสูตรนี้ไม่ได้สอนเขียนโปรแกรม แม้กระทั่งการเตรียมเครื่องมือในการเขียนบล็อกเชนก็ไม่ได้สอนในรายละเอียด แต่จัดเตรียมไว้ให้เลย เนื่องจากต้องการเน้นสอนเรื่องแนวคิดกรณีศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถ่องแท้ในการนำไปใช้ และสามารถนำแนวคิดและหลักการดังกล่าวไปเขียนขึ้นโครงการเองได้เลยทันที

บล็อกเชน จะเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาแอปพลิเคชั่นในอนาคต การที่นักพัฒนาปฏิเสธโอกาสในการเรียนรู้บล็อกเชน เท่ากับเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งการก้าวเดินบนเส้นทางทางเทคโนโลยีในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องยากไปในที่สุด

เราคาดหวังว่าผู้ที่เรียนจบหลักสูตรนี้ออกไปแล้ว สามารถรับงานบล็อกเชนได้เลย ซึ่งเราเชื่อว่าประเทศไทยยังขาดบุคคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้อีกมาก ซึ่งเราจะสามารถพัฒนาคนที่จะเดินบนเส้นทางสายเทคโนโลยีบล็อกเชนจริงๆได้ราวๆปีละ 60-70 คน จากหลักสูตรนี้

"วันนี้บล็อกเชนยังไม่ได้แพร่หลายมากนัก เนื่องจากโปรโตคอลที่ยังไม่เอื้อในการ 'ส่งคุณค่าผ่านทางออนไลน์ระหว่างวงบล็อกเชนแบบสมบูรณ์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชน ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการพัฒนาทักษะของนักพัฒนาโปรแกรมที่จะก้าวเข้าสู่เส้นทางของบล็อกเชน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเบื้องหลังของเทคโนโลยีในอนาคตและเมื่อเวลานั้นมาถึง

การพัฒนาตัวเองก่อน เป็นโอกาสของการขึ้นมาเป็นนักพัฒนาแถวหน้าของบล็อกเชนเมืองไทยที่ง่ายที่สุด เนื่องจากผู้สอนทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มบุคคลแถวหน้าทั้งสิ้น การที่เราพาตัวเองเข้ามาอยู่แถวหน้าก่อน นอกจากเราจะได้เรียนรู้ก่อนแล้ว เรายังจะเห็นโอกาสของการเข้ามาของบล็อกเชนก่อนอีกด้วย และเชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี บล็อกเชนจะถูกพัฒนาเข้ามาอยู่ในทุกอุตสากรรมในโลกใบนี้"  ดร.พณชิต กล่าว

หลักสูตร "Geeks on the Block (Chain)" Blockchain Camp for Developers Batch#1 เริ่มเปิดรับสมัครแล้ววันนี้ ระยะเวลาการเรียน 7 ครั้ง ครั้งละ 8 ชั่วโมง เริ่มเรียนวันที่ 7 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2562 สามารถลงทะเบียนเรียนได้ที่ http://dpux.dpu.ac.th/geeksontheblock/register/batch1

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...