IBM เผยผลการศึกษา วิธีวางแผนรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พุ่งสูงขึ้นแต่การป้องกันยังมีปัญหาอยู่

IBM เผยผลการศึกษาองค์กรทั่วโลกประจำปีเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมและการรับมือกับภัยไซเบอร์ของธุรกิจต่างๆ พบในช่วงห้าปีที่ผ่านมา องค์กรเริ่มค่อยๆ พัฒนาขีดความสามารถในการวางแผน ตรวจจับ และรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ แต่ความสามารถในการยับยั้งการโจมตีกลับลดลงถึงร้อยละ 13 โดยผลการสำรวจของสถาบันโพเนมอนที่สนับสนุนโดยไอบีเอ็มในครั้งนี้ พบว่าการใช้เครื่องมือรักษาความปลอดภัยหลายเครื่องมือเกินไป รวมถึงการขาดแนวทางปฏิบัติเฉพาะในการรับมือกับการโจมตีแบบทั่วไป กำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญขององค์กร

แม้องค์กรจะเริ่มทยอยพัฒนาแผนรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างช้าๆ แต่องค์กรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 74) ยังรายงานว่าแผนรับมือของตนเป็นแบบเฉพาะกิจ (ad-hoc) ที่ไม่ได้นำมาใช้ประจำ หรือไม่มีแผนแต่อย่างใด ทั้งนี้ การขาดแผนรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ อาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการจัดการกับเหตุด้านซิเคียวริตี้ โดยบริษัทที่มีทีมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์และดำเนินการทดสอบแผนรับมือเป็นระยะๆ มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเมื่อเกิดเหตุข้อมูลรั่วไหลน้อยกว่าบริษัทที่ลดค่าใช้จ่ายด้วยการตัดทีมงานและแผนด้านซิเคียวริตี้ออกไปถึง 36 ล้านบาท [1]

ข้อมูลสำคัญจากรายงาน Cyber Resilient Organization Report ยังรวมถึง

•    การพัฒนาอย่างช้าๆ:  ตลอด 5 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทที่นำแผนรับมือภัยคุกคามไซเบอร์มาใช้ทั่วทั้งองค์กรอย่างจริงจังมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 26 ในปีนี้ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44) 

•    แนวทางปฏิบัติเป็นสิ่งจำเป็น: แม้แต่ในกลุ่มของผู้ที่มีแผนรับมือภัยคุกคามไซเบอร์อย่างเป็นกิจจะลักษณะอยู่แล้ว ก็ยังมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น (คิดเป็นร้อยละ 17 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมด) ที่ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติสำหรับการรับมือกับการโจมตีแบบทั่วไป โดยแผนรับมือกับวิธีการโจมตีแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแรนซัมแวร์ยังคงล้าหลังอยู่มาก 

•    ความซับซ้อนเป็นอุปสรรคต่อการรับมือกับภัยคุกคาม: เครื่องมือรักษาความปลอดภัยจำนวนมากที่องค์กรนำมาใช้นั้น ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการรับมือกับภัยคุกคาม โดยองค์กรที่ใช้เครื่องมือรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ 50 ชนิดขึ้นไป มีขีดความสามารถในการตรวจจับภัยคุกคามลดลงร้อยละ 8 และขีดความสามารถในการรับมือกับการโจมตีลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับองค์กรที่ใช้เครื่องมือน้อยกว่า

•    ยิ่งวางแผนดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งลดการหยุดชะงักของธุรกิจได้มากเท่านั้น: องค์กรที่นำแผนรับมือภัยคุกคามไซเบอร์มาใช้กับทุกส่วนงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีโอกาสน้อยกว่ามากที่จะเกิดปัญหาการหยุดชะงักทางธุรกิจอันเป็นผลมาจากการโจมตีทางไซเบอร์ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีเพียงร้อยละ 39 ของบริษัทเหล่านี้ที่ประสบกับเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จนธุรกิจหยุดชะงัก เมื่อเทียบกับร้อยละ 62 สำหรับบริษัทที่ไม่มีแผนรับมืออย่างเป็นกิจจะลักษณะ หรือนำแผนการมาใช้อย่างไม่สม่ำเสมอ

“แม้จำนวนองค์กรที่นำแผนรับมือภัยคุกคามไซเบอร์มาใช้อย่างจริงจังจะมีจำนวนมากขึ้น แต่การเตรียมพร้อมรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์เพียงอย่างเดียวคงไม่พอ” เวนดิ วิทมอร์ รองประธานของ IBM X-Force Threat Intelligence กล่าว “องค์กรยังต้องให้ความสำคัญกับการทดสอบ การฝึกซ้อม รวมถึงการประเมินแผนรับมือภัยคุกคามเป็นประจำ นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ทำงานร่วมกันได้และระบบอัตโนมัติ จะช่วยให้เราเอาชนะความซับซ้อนและช่วยยับยั้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว” 

การอัพเดตแนวทางปฏิบัติสำหรับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

จากการสำรวจพบว่า แม้กระทั่งในองค์กรที่มีแผนรับมือกับเหตุด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (CSIRP) อย่างเป็นกิจจะลักษณะ มีเพียงร้อยละ 33 เท่านั้นที่มีแนวทางปฏิบัติสำหรับการรับมือกับการโจมตีประเภทต่างๆ โดยเฉพาะ เนื่องจากรูปแบบการโจมตีประเภทต่างๆ ต้องใช้เทคนิคการรับมือที่เฉพาะเจาะจง การมีแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจะช่วยให้องค์กรต่างๆ มีแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องและสามารถดำเนินการซ้ำได้ เพื่อจัดการกับการโจมตีแบบทั่วๆ ไปที่มีแนวโน้มว่าจะพบบ่อยมากที่สุด   

ในบรรดาองค์กรส่วนน้อยที่มีการเตรียมแนวทางปฏิบัติในการรับมือกับการโจมตีประเภทต่างๆ ไว้ พบว่ามักเป็นการเตรียมรับมือกับการโจมตีแบบ DDoS (ร้อยละ 64) และมัลแวร์ (ร้อยละ 57) แม้วิธีการโจมตีเหล่านี้จะเคยเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ขององค์กร แต่วันนี้วิธีการโจมตีแบบใหม่ๆ อย่างแรนซัมแวร์กำลังพุ่งสูงขึ้น และแม้ว่าการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ได้พุ่งขึ้นเกือบร้อยละ 70 ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา  [2]แต่กลับมีองค์กรเพียงร้อยละ 45 เท่านั้นที่นำแนวทางปฏิบัติที่กำหนดแผนการรับมือกับการโจมตีของแรนซัมแวร์เอาไว้มาใช้

นอกจากนี้ เกินกว่าครึ่ง (ร้อยละ 52) ขององค์กรที่มีแผนรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ระบุว่า องค์กรไม่เคยตรวจสอบหรือกำหนดเวลาในการตรวจสอบ/ทดสอบแผนรับมือเหล่านั้นเลย ในขณะที่การดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากพนักงานได้เปลี่ยนไปทำงานจากระยะไกลกันมากขึ้น เทคนิคการโจมตีแบบใหม่ๆ ได้ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าธุรกิจจำนวนมากกำลังพึ่งพาแผนรับมือที่ล้าหลังซึ่งไม่สอดรับกับภัยคุกคามและภูมิทัศน์ทางธุรกิจในปัจจุบัน 

ยิ่งใช้เครื่องมือมาก ก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการรับมือแย่ลง

นอกจากนี้ รายงานยังพบว่าความซับซ้อนของเครื่องมือได้ส่งผลในเชิงลบต่อความสามารถในการรับมือกับเหตุการณ์ ผู้ที่ตอบแบบสำรวจประเมินว่าองค์กรของตนใช้เครื่องมือรักษาความปลอดภัยโดยเฉลี่ยมากกว่า 45 ชนิด โดยในการรับมือกับเหตุการณ์แต่ละครั้ง จำเป็นต้องอาศัยการทำให้เครื่องมือประมาณ 19 ชนิดทำงานประสานสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม การศึกษายังพบอีกว่า แท้จริงแล้ว เครื่องมือที่มีมากเกินไปอาจเป็นอุปสรรคในการรับมือกับการโจมตีรูปแบบต่างๆ โดยองค์กรที่ใช้เครื่องมือมากกว่า 50 ชนิดมีขีดความสามารถในการตรวจจับการโจมตีลดลงร้อยละ 8 (5.83/10 เทียบกับ 6.66/10) และมีขีดความสามารถในการรับมือกับการโจมตีลดลงประมาณร้อยละ 7 (5.95/10 เทียบกับ 6.72/10) 

ข้อมูลที่พบชี้ให้เห็นว่า การนำเครื่องมือต่างๆ มาใช้มากขึ้นไม่ได้ช่วยให้การรับมือกับการโจมตีดีขึ้นเสมอไป ซึ่งอันที่จริงแล้ว อาจได้รับผลตรงกันข้าม การใช้แพลตฟอร์มแบบเปิดที่สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมถึงเทคโนโลยีการทำงานแบบอัตโนมัติจะช่วยลดความซับซ้อนในการจัดการเครื่องมือที่ไม่เชื่อมโยงถึงกัน โดยจากรายงานพบว่าร้อยละ 63 ขององค์กรที่มีผลประกอบการดี เลือกใช้เครื่องมือที่ทำงานร่วมกันได้ดี ซึ่งช่วยให้พวกเขารับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ได้ดียิ่งขึ้น

การวางแผนรับมือที่ดีขึ้นนำไปสู่ความสำเร็จ

รายงานของปีนี้ชี้ให้เห็นว่า องค์กรที่ลงทุนในการวางแผนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จะประสบความสำเร็จในการรับมือกับเหตุต่างๆ มากกว่า โดยในบรรดาบริษัทที่มีการนำ CSIRP มาใช้อย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งองค์กรนั้น มีเพียงร้อยละ 39 เท่านั้นที่ประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับร้อยละ 62 ที่ไม่มีแผนรับมืออย่างเป็นกิจจะลักษณะ 

เมื่อพิจารณาเหตุผลที่ทำให้องค์กรต่างๆ มองว่าตนมีศักยภาพในการรับมือกับการโจมตี พบว่าทักษะด้านซิเคียวริตี้ของบุคลากรคือปัจจัยที่องค์กรมองว่าสำคัญสูงสุด โดยร้อยละ 61 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจต่างมองว่าการจ้างพนักงานที่มีทักษะความชำนาญเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในการทำให้บริษัทมีความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจที่ระบุว่าความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบริษัทไม่ได้เพิ่มขึ้นนั้น ร้อยละ 41 ระบุว่าเป็นเพราะขาดพนักงานที่มีทักษะความชำนาญ 

เทคโนโลยีคือปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งช่วยให้องค์กรต่างๆ มีความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความซับซ้อน เมื่อพิจารณาองค์กรต่างๆ ที่มีระดับความสามารถในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สูงกว่า ปัจจัยสำคัญสองประการที่ช่วยยกระดับความสามารถดังกล่าวคือ การมีความรู้เกี่ยวกับแอพพลิเคชันและข้อมูล (57%) และการมีเครื่องมือในการทำงานแบบอัตโนมัติ (55%) โดยรวมแล้ว ข้อมูลชี้ว่าองค์กรที่พึ่งพานวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์มากกว่า จะมีความพร้อมในการรับมือที่มากกว่า

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทรู ไอดีซี คว้า Sustainability Impact Award 2024 ตอกย้ำผู้นำดาต้าเซ็นเตอร์รักษ์โลก

ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ (ทรู ไอดีซี) ผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างชื่อเสียงในระดับประเทศ คว้ารางวัล Sustainability Impact Award 2024 จา...

Responsive image

AXONS คิดค้น AI อัจฉริยะ ตรวจโรคหมูได้ไวแม่นยำ ยกระดับฟาร์มสู่ยุคใหม่

AXONS เปิดตัวระบบวินิจฉัยโรคสุกรอัจฉริยะ ด้วย AI และ LLM วิเคราะห์อาการแบบเรียลไทม์ เสริมความแม่นยำ ลดภาระสัตวแพทย์ ยกระดับฟาร์มปศุสัตว์ไทยสู่ความยั่งยืน...

Responsive image

รู้จัก “Better AI” จากโรงพยาบาลกรุงเทพ AI เปลี่ยนวงการสุขภาพ ด้วย 3 ฟีเจอร์เด่น

รู้จัก Better AI จากโรงพยาบาลกรุงเทพ กับ 3 ฟีเจอร์สุดล้ำที่ช่วยสรุปบทความสุขภาพให้ฟัง จับเทรนด์สุขภาพล่าสุด และแนะนำแพทย์ที่เหมาะกับคุณ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน...