สจล. เปิด KIDS University มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก พร้อมหลักสูตรสร้าง New Skills ดันเด็กไทยให้ก้าวล้ำนานาชาติ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าเปิด “มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก” (KIDS University by KMITL) ปี 2 หลักสูตรระยะสั้นที่มุ่งเฟ้นหา “นิว สกิล” (New Skill) ของเด็กรุ่นจิ๋ววัย 3-10 ปี หวังทลายกำแพงการสร้างเด็กไทยโฉมใหม่ให้ก้าวล้ำนานาชาติ ผ่านการเลือกเรียนในหลักสูตรใหม่มากกว่า 30 รายวิชา อาทิ วิชาโรโบติกส์ โค้ดดิ้ง ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านเกมหลอดทดลอง และตัวต่อเสริมทักษะ เลโก้’ หนุนกระตุ้นเด็กเล็กฉายแววความสามารถพิเศษ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองส่งเสริมความสามารถของลูกได้ตรงจุดก่อนเข้าเรียนในช่วงชั้นที่สูงขึ้น พร้อมพบไฮไลท์หลักสูตรนักบินอวกาศน้อย (Mission to Jupiter) ที่จะได้รับประสบการณ์เรียนรู้ในการเป็นวิศวกรการบินและวิศวกรอวกาศโดยตรง จากนักบินอวกาศหญิงที่มีประสบการณ์ฝึกบินจริงที่สหรัฐฯ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว พร้อมเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ (10 พฤศจิกายน) ดีเดย์คลาสแรกในวันเด็ก ปี 2565 และเมื่อจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตร เพื่อต่อยอดการเรียนในสถาบันการศึกษาที่สนใจและสอดคล้องกับทักษะของตนเองได้อนาคต โดยกิจกรรมเปิดตัวโครงการ มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก ปีที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 

ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) เปิดเผยว่า จากความสำเร็จในการจัดโครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (KIDS University by KMITL) ปีที่ 1 ที่เปิดไปในปี พ.ศ. 2563 ทำให้เกิดความตื่นตัวต่อการให้ความสำคัญกับการค้นหาความสามารถพิเศษของเด็กเล็ก (Talent Finder) และเสริมสร้างทักษะจำเป็น ด้วยแนวคิดที่มุ่งเน้นให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ในแบบมหาวิทยาลัย ทั้งจากการเรียนกับอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย อันเป็นแนวทางหนึ่งในการเติมทักษะความเป็นผู้นำ ความรับผิดชอบ และความสามารถในแบบผู้ใหญ่ จึงได้ดำเนินการเปิดโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก” ปีที่ 2 ขึ้น หลักสูตรระยะสั้นสำหรับเด็กเล็กวัย 3-10 ปี ที่มุ่งเน้นการเฟ้นหาความสามารถพิเศษ (Talent Developer) พร้อมด้วยทักษะใหม่ (New Skill) หวังทลายกำแพงการสร้างเด็กไทยโฉมใหม่ให้ก้าวล้ำนานาชาติ อีกทั้งเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองส่งเสริมความสามารถพิเศษของลูกน้อยได้อย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตาม การปลูกฝังเด็กยุคใหม่ โดยเฉพาะ “เด็กปฐมวัย” ให้มีทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาของชาติในการปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่เด็กระดับปฐมวัยสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยคลอบคลุมทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ สื่อ เทคโนโลยี รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ เพื่อให้เด็กได้รับการส่งเสริม พัฒนาการเรียนรู้และสามารถต่อยอดไปกับการจัดการศึกษาในสมัยปัจจุบัน ที่กำลังมีการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงและเป็นไปตามแนวทางของการจัดทำมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning)

ด้าน ผศ. ดร.อำภาพรรณ ตันตินาครกูล หัวหน้าโครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง สจล. กล่าวเสริมว่า การเรียนการสอนสำหรับในปีที่ 2 จะเป็นหลักสูตรระยะสั้น ในรูปแบบ Modular-Base ที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ในด้านที่ 4 คือ Quality Education ที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาเท่าเทียมและทั่วถึง รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน โดยไฮไลท์หลักสูตรในปีที่ 2 นี้ จะเป็น ห้องนักบินอวกาศน้อย (Mission to Jupiter) ที่เด็กเล็กจะได้รับประสบการณ์ตรง จาก ‘นักบินอวกาศหญิงที่มีประสบการณ์ฝึกบินที่หน่วยงานแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา’ อย่าง ดร.พิรดา เตชะวิจิตร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. ที่จะเปิดประสบการณ์ในการฝึกเป็นวิศวกรการบินและวิศวกรอวกาศ ได้เรียนรู้การสร้างแผงวงจรจริงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดาวเทียม ได้ออกแบบเครื่องบินจำลองเพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานของเครื่องบิน ได้จำลองสถานการณ์กู้ภัยหายานตกจากอวกาศ ด้วยอุปกรณ์ส่งสัญญาณจริง ตลอดจนออกแบบยานด้วยการวาดแบบสามมิติและสร้างจริงด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ 

นอกจากนี้ ผู้เรียนยังได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ในหลักสูตรพิเศษที่น่าสนใจมากกว่า 30 รายวิชา ทั้งหลักสูตรโรโบติกส์ (ROBOTICS) หลักสูตรโค้ดดิ้ง (CODING) ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านเกมหลอดทดลอง (Game-Based Leaning) และตัวต่อเสริมทักษะ ‘เลโก้’ (LEGO SPIKE Prime) ฯลฯ จากคณาจารย์นักวิจัย นักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ดูแลนักเรียนในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในหลากรูปแบบ อาทิ การทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสื่อสารและสารสนเทศ ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีทัศนคติเชิงบวก เกิดแรงบันดาลใจ ค้นพบความถนัดและความสนใจ สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การเรียนรู้ในวันข้างหน้า ตลอดจนเสริมสร้าง 3 ทักษะจำเป็นสำหรับศตวรรษใหม่ ดังนี้ DiGIKIDS ทักษะความรู้ดิจิทัล (Robotic AI Coding) DeSIGNER ทักษะด้านศิลปะ การคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ การแสดงดนตรี และ DiSRUPTOR ทักษะการเป็นผู้นำ การเป็นนักเปลี่ยนแปลง การเอาตัวรอด

ทั้งนี้ โครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก พร้อมเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2564) โดยกำหนดจัดกิจกรรมวันแรกคือ วันเด็ก ปี 2565 มีระยะเวลาการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 6-8 สัปดาห์ และเมื่อจบหลักสูตรผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตร เพื่อต่อยอดการเรียนในสถาบันการศึกษาที่สนใจและสอดคล้องกับทักษะของตนเองได้อนาคต จากนั้นจะเป็นการเปิดรับสมัครหลักสูตรพิเศษ ซึ่งจะจัดในค่ายฤดูร้อน (SUMMER CAMP) นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังสามารถสร้างเครือข่ายไปยังโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและทั่วโลก เพื่อให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กรุ่นใหม่ โดยที่ล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือกับ “มหาวิทยาลัยศรีปทุม” พันธมิตรรายแรก ในการนำต้นแบบหลักสูตรมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) ปีที่ 2 ไปเปิดสอน เพื่อกระตุ้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเล็กของประเทศไทยเป็นลำดับต่อไป ผศ. ดร.อำภาพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกิจกรรมเปิดตัวโครงการ มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก (Kids University by KMITL) ปีที่ 2 จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สำหรับผู้ปกครองท่านใดที่สนใจโครงการดังกล่าว สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักหอสมุดกลาง สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02 329 8000 ต่อ 5083 หรือเพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/KidsUniversitybyKMITL และเว็บไซต์ http://kidsu.kmitl.ac.th


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...