มองเทรนด์ท่องเที่ยวไทยช่วงส่งท้ายปี เราเที่ยวด้วยกัน ประชัน COVID-19 ระลอกใหม่

EIC วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมที่รุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แม้ปัจจัยสนับสนุนอย่างมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จะได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงที่ผ่านมา 

ภาคการท่องเที่ยวของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการทยอยฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวของคนไทยด้วยกันเอง แต่ทั้งจำนวนและรายได้ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่การฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมายังไม่ทั่วถึง โดยจังหวัดที่คนไทยนิยมท่องเที่ยวอยู่แล้วในอดีตยังเป็นกลุ่มที่สามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า

ภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ที่ทรุดหนักจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เริ่มปรับตัวผ่านพ้นจุดต่ำสุด

จากในช่วงล็อกดาวน์ หลังคนไทยเริ่มออกมาท่องเที่ยวในประเทศกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวในประเทศโดยคนไทยก็ยังกลับมาไม่เท่ากับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยในช่วงเดือนตุลาคม ยังต่ำกว่าในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าถึง -34.5%YOY (หดตัวน้อยลงจาก -38.1%YOY ในไตรมาส 3) ขณะที่รายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวคนไทยก็ต่ำกว่าอยู่ถึง -49.2%YOY (หดตัวน้อยลงจาก -57.2%YOY ในไตรมาส 3) ซึ่งการที่รายได้มีการหดตัวมากกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นหมายความว่า นอกจากคนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงแล้ว ยังใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยลดลงอีกด้วย ถือเป็นการสะดุดลงของแนวโน้มการขยายตัวของการท่องเที่ยวโดยคนไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) โดยจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครัวเรือนไทยใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.9% ต่อปี แม้การใช้จ่ายในภาพรวมจะชะลอลง -0.5% ต่อปี 

ทั้งนี้แม้จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในเดือนตุลาคม แต่ก็ยังเป็นจำนวนที่น้อยมากเพียง 1,201 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นเพียง 0.04% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมในเดือนเดียวกันของปีก่อน ในภาวะที่ซบเซานี้ การมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ถือว่ามีส่วนช่วยภาคการท่องเที่ยวในประเทศ โดย ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการแล้ว 6.4 ล้านคน และมีผู้ใช้สิทธิ์จองที่พัก

ที่ชำระเงินแล้วจำนวน 4 ล้านสิทธิ์ จาก 5 ล้านสิทธิ์ คิดเป็นมูลค่าห้องพักที่จอง 10,961 ล้านบาท อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศมีลักษณะที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งจังหวัดที่มีการฟื้นตัวได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยมักเป็นจังหวัดยอดนิยมของคนไทยอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม (ข้อมูลล่าสุด) จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเฉลี่ยหดตัวที่ -37.0%YOY จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่จังหวัดยอดนิยม (ประเมินจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยสะสมในช่วง ก.ค.-ต.ค. 62) เช่น เชียงใหม่ หดตัวเพียง -11.4%YOY เช่นเดียวกันกับ ประจวบคีรีขันธ์ (-11.4%YOY) ชลบุรี (-12.4%YOY) กาญจนบุรี (-14.0%YOY) และเพชรบุรี (-16.6%YOY) ขณะที่จังหวัดในภาคใต้ที่เคยได้รับ

ความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ (ประเมินจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติสะสมในช่วง ก.ค.-ต.ค. 62) ฟื้นตัวได้ช้ากว่า เช่น ภูเก็ต ที่มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยรวมในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง -51.3%YOY เช่นเดียวกันกับ สุราษฎร์ธานี (-42.9%YOY) และกระบี่ (-63.0%YOY) โดยคาดว่าสาเหตุที่คนไทยไปเที่ยวจังหวัดเหล่านี้ลดลงมากกว่าอาจมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งค่าใช้จ่ายในการเที่ยวที่สูงกว่า ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทยตามสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ระยะการเดินทางที่ไกลจากภาคอื่น ๆ สอดคล้องกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งพบว่า คนไทยนิยมเที่ยวใกล้บ้านมากขึ้น ประกอบกับยังมีผลกระทบจากพายุที่ส่งผลให้มีน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ในภาคใต้ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม    

ในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ทิศทางการฟื้นตัวของจังหวัดท่องเที่ยวที่ไกลจากกรุงเทพฯ เริ่มปรับดีขึ้น หลังนักท่องเที่ยวเริ่มมีความเชื่อมั่นในการโดยสารด้วยเครื่องบินมากขึ้น ทำให้จังหวัดท่องเที่ยวที่อยู่ไกลกรุงเทพฯ (มีระยะเดินทางด้วยรถยนต์เกิน 4 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ) เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เริ่มปรับตัวในทิศทางดีขึ้น ต่างจากในช่วง

หลังคลายล็อกดาวน์ในไตรมาสที่ 3 ที่การท่องเที่ยวในประเทศจะเริ่มฟื้นตัวในกลุ่มจังหวัดที่ใกล้กรุงเทพฯ ก่อน อย่างไรก็ดีกลุ่มจังหวัดไกลกรุงเทพฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นก็ยังคงเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมไปอยู่ก่อนแล้ว ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างรวดเร็วต่อการท่องเที่ยวของคนไทย หลังจากที่ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงและส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและอยู่ใน State Quarantine แต่เมื่อไทยมีเหตุการณ์การพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ส่งผลต่อกิจกรรมการเดินทางซึ่งรวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยกัน 2 เหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ได้แก่ เหตุการณ์ในจังหวัดระยอง ณ วันที่ 10 กรกฎาคม และจังหวัดเชียงราย ณ วันที่ 2 ธันวาคม ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ กิจกรรมการเดินทางในทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าวได้ลดลงในทันที สะท้อนจากข้อมูลการเดินทางของ Facebook (Facebook Movement Range) โดยสำหรับเหตุการณ์ในระยอง ใช้เวลาประมาณ 22 วัน

ในการกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่เหตุการณ์ในเชียงรายเกิดการลดลงของปริมาณการเดินทางอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งหมดในประเทศและส่งผลลบต่อการท่องเที่ยวของเชียงรายในช่วงหน้าหนาวซึ่งเป็น high season ของทุกปี อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 เหตุการณ์มีผลค่อนข้างจำกัดในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด โดยในกรณีของจังหวัดระยองนั้น ข้อมูลการเดินทางของ Facebook ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างชลบุรีและฉะเชิงเทราไม่ได้ชะลอตัวลงตามจังหวัดระยอง คล้ายคลึงกับกรณีของจังหวัดเชียงรายที่ข้อมูลการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับที่พัก (Google Trends) และข้อมูลการเดินทางของ Facebook ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างเชียงใหม่ 

ที่แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงบ้างแต่ไม่ได้มากเท่าเชียงรายและไม่ได้ชะลอตัวลงในทันทีที่พบผู้ติดเชื้อในเชียงราย อาจเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้สูงมากและสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อไม่ใช่ศูนย์กลางของการสัญจรระหว่างจังหวัด ทั้งนี้ทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญถึงความอ่อนไหวต่อความเสี่ยงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มกลับมาส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง สำหรับเหตุการณ์

การแพร่ระบาดล่าสุดที่จังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งพบผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 1,356 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ธันวาคม) นั้น ข้อมูลการเดินทางของ Facebook ก็ลดลงทันทีเช่นกัน โดย 1 วันหลังการแพร่ระบาด ข้อมูลการเดินทางของ Facebook ของสมุทรสาครลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 23.9 percentage point ซึ่งสูงกว่ากรณีของระยอง (ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 2.0 percentage point) และเชียงราย (ลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 0.4 percentage point) และการแพร่ระบาดครั้งนี้อาจมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงมากกว่ากรณีของระยองและเชียงราย เนื่องจาก 

  1. มีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการติดตามและควบคุม 
  2. มีการเกี่ยวข้องกับตลาดค้าส่งอาหาร 

ซึ่งทำให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีการขยายตัวเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด และ (3) อาจส่งผลต่อภาคการผลิตอื่น ๆ นอกจากภาคการท่องเที่ยว เช่น ภาคการผลิตอาหาร ภาคการก่อสร้าง และการค้าชายแดน ดังนั้น การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่นี้จึงมีความรุนแรงมากกว่า 2 เหตุการณ์ที่ผ่านมา 

ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้คนไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการท่องเที่ยวช่วงส่งท้ายปี

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,277 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4-10 ธันวาคม 2563 เรื่อง “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้าย ปี 2563” โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดในปี 2563  ได้แก่ การท่องเที่ยวอย่างระมัดระวัง ไม่ไปเที่ยวในที่คนพลุกพล่าน เลือกสถานที่ท่องเที่ยวมากขึ้น การท่องเที่ยวในสถานที่ใกล้บ้าน และเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับมากขึ้น 

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะยังเป็นสถานการณ์ที่จะกระทบกับการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ของคนไทยมากที่สุด โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เหตุการณ์ความกังวลต่อการแพร่ระบาดในเชียงรายที่ยังอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการตัดสินใจไปเที่ยวในช่วงโค้งสุดท้ายของปีในจังหวัดดังกล่าว สะท้อนจากข้อมูลการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับที่พักในจังหวัดเชียงรายบน Google ที่ลดลงหลังพบผู้ติดเชื้อนอก State Quarantine เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน และผู้ติดเชื้อภายในประเทศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม โดยดัชนี Google Trends ลดลงต่ำสุดในช่วงวันที่ 13-19 ธันวาคม ที่ -46.9% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2562 ขณะที่เหตุการณ์ในจังหวัดสมุทรสาครมีผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวช่วงปลายปี เนื่องจากเริ่มมีการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัดที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการควบคุมโรคของภาครัฐเริ่มลดลง รวมถึงการที่ห้างสรรพสินค้าและภาคเอกชนในจังหวัดที่มี

การแพร่ระบาดเริ่มประกาศงดกิจกรรมต่าง ๆ ช่วงปลายปี นอกจากนี้ การพบผู้ติดเชื้อที่กระจายอยู่ในหลายจังหวัดอาจส่งผลให้ประชาชนบางส่วนตัดสินใจเลื่อนทริปท่องเที่ยวช่วงปลายปีจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดในสถานที่ต่าง ๆ และการขาดความมั่นใจในการเดินทางด้วยเครื่องบินและการขนส่งสาธารณะภาคพื้นดิน

EIC มองว่าธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 ยังมีอีกหลายความท้าทาย อันประกอบไปด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 : เป็นความท้าทายที่จะยังมีอยู่จนกว่าการได้รับวัคซีนจะเกิดขึ้น

ในวงกว้าง EIC ประเมินว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะได้รับวัคซีนเป็นวงกว้างและเข้าสู่ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ขณะที่ไทยน่าจะมีการเริ่มฉีดในช่วงกลางปีหน้า และจะเข้าสู่ภาวะคุ้มกันหมู่

ได้ภายในครึ่งแรกของปี 2565 โดยประเด็นการได้รับวัคซีนนี้จะมีผลต่อการเดินทางเข้ามายังไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการตัดสินใจเปิดประเทศของบ้านเราด้วยเช่นกัน ทุกภาคส่วนจึงควรยังต้องมีความระมัดระวังในระดับสูงเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาด ทั้งนี้ EIC คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ราว 8.5 ล้านคน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง EIC มองว่า ถึงแม้จะต้องใช้เวลา

อีกระยะหนึ่งกว่าที่ไทยจะได้รับวัคซีน แต่ภาครัฐและผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวก็ควรมีการเตรียมพร้อมสำหรับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงแก่บุคลากร

ภาคการท่องเที่ยว การประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนและสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงการวางระบบตรวจสอบข้อมูล

ด้านสุขอนามัยและข้อมูลการฉีดวัคซีนที่อาจจำเป็นมากขึ้นในการท่องเที่ยวในช่วงหลังจากนี้กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่ซบเซา : เป็นปัจจัยที่เกิดจากผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มาตรการกระตุ้นจากภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการประคับประคองการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไปอีกระยะหนึ่ง 

การขยายระยะเวลาของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือการออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวใหม่ ๆ จึงมีส่วนสำคัญสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงต้นปีหน้า ภายใต้สมมติฐานว่า ไทยจะสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่นี้ได้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว : เช่น ความระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยที่เพิ่มมากขึ้น การหลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด การมองหาโปรโมชันที่จูงใจ คุ้มค่ากับราคาในภาวะที่กำลังซื้อมีจำกัด 

ภาวะการแข่งขันระหว่างธุรกิจท่องเที่ยวด้วยกันที่รุนแรงมากขึ้น : ทั้งในด้านการลดราคาและการนำเสนอโปรโมชันจูงใจต่าง ๆ ที่น่าจะยังมีอยู่ต่อไปในภาวะที่อุปสงค์การเข้าพักต่ำลงจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่อุปทานห้องพักมีเท่าเดิม จนกว่าจะเริ่มมีปัจจัยสนับสนุนด้านความต้องการเข้าพักจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา

 

บทวิเคราะห์โดย... https://www.scbeic.com/th/detail/product/7297 

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ : Economic Intelligence Center - TeamData


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...