KPMG เผย การควบรวมและซื้อกิจการในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) เป็นผลจากธุรกิจไทยที่ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มการลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาด (private equity funds) และธุรกิจที่ต้องการหาตลาดใหม่ในการลงทุนและเพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กร
  • ธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของการควบรวมและซื้อกิจการโดยการหาผู้ร่วมทุนในกิจการร่วมค้า (joint venture) หรือพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ
  • KPMG กล่าวว่าในประเทศไทยการเจรจาต่อรองซื้อขายกิจการที่ไม่สำเร็จส่วนใหญ่เป็นผลจากประเด็นต่างๆ ที่พบจากการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจ (due diligence)
  • บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการจัดการความแตกต่างทางวัฒนธรรมองค์กรระหว่างสองบริษัทที่ควบรวมกัน KPMG กล่าว
  • การควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยยังคงมีอนาคตที่เติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป

การสำรวจบริษัทที่มีส่วนร่วมในการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยโดย KPMG แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความต้องการควบรวมและซื้อกิจการ ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เหมาะจะใช้ประโยชน์จากการที่บริษัททั่วโลกยังคงมีความต้องการซื้อขายกิจการ การสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายและข้อดีจากการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยทั้งที่ทำสำเร็จและไม่สำเร็จ นับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับธุรกิจที่กำลังพิจารณาการซื้อ ขาย หรือ จัดตั้งกิจการร่วมค้ากับธุรกิจอื่น

ประเทศไทยมีการควบรวมและซื้อกิจการเพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทั่วโลกที่ผู้บริหารระดับสูงสุดต่างต้องการการควบรวมและซื้อกิจการ และเพิ่มพันธมิตรเพื่อการเติบโตของธุรกิจ  ซึ่งนอกจากการควบรวมและซื้อกิจการในลักษณะที่เห็นเดิมคือ การควบรวมและซื้อกิจการขนาดเล็กถึงขนาดกลางภายในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการลงทุนจาก private equity และบริษัทข้ามชาติอีกด้วย และธุรกิจไทยเองยังมีการลงทุนในประเทศและนอกประเทศอีกมากเนื่องจากหลายบริษัทกำลังผันตัวเป็นธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะการลงทุนจาก private equity ทั้งจากกองทุนในประเทศและระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ที่ต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนในกองทุนขนาดเล็กและช่วง early-stage ในประเทศไทย ตลอดจนถึงกองทุนระดับโลกที่มีการทำธุรกรรมมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ในลักษณะเดียวกัน บริษัททั่วโลกที่ต้องการขยายกิจการยังคงมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อเข้าถึงตลาด ลูกค้า และเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยที่สองในสามของบริษัท ที่ได้ทำการสำรวจระบุว่า การขยายตลาดเป็นแรงจูงใจหลักในการทำ M&A

ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุด้วยว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับกิจกรรมการควบรวมและซื้อกิจการในอนาคตอันใกล้ โดยร้อยละ 88 ระบุว่าพวกเขาคาดว่าจะทำข้อตกลงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในประเทศไทยในอีกห้าปีข้างหน้า และร้อยละ 27 คาดว่าจะทำอย่างน้อยสี่ครั้ง ผู้ตอบแบบสอบถามยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายที่น่าดึงดูดสำหรับการควบรวมและซื้อกิจการมากกว่ากลุ่มประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเพียงประเทศเวียดนามเท่านั้นที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศไทยได้ในแง่ของความน่าดึงดูด

การสำรวจยังบ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อมีการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทย และที่สำคัญยังแสดงให้เห็นถึงสาเหตุในกรณีที่การควบรวมและซื้อกิจการนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ โดยการทำความเข้าใจและการเรียนรู้จากความท้าทายเหล่านี้ จะทำให้ทั้งผู้ขายและนักลงทุนสามารถเตรียมพร้อมและจัดการกับการควบรวมและซื้อกิจการได้ดียิ่งขึ้น

ไม่น่าแปลกใจที่ความท้าทายหลักที่พบคือวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการ due diligence โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ ประเด็นด้านกฎหมาย ความเสี่ยงด้านภาษี และการบันทึกทางการเงินที่ขาดคุณภาพและความซื่อสัตย์สุจริต KPMGกล่าวว่าปัญหาเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าผู้ขายเตรียมการเร็วขึ้น เพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้าใจถึงสถานะทางการเงิน การค้า และกฎหมายของธุรกิจและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น KPMGระบุว่า ได้มีการให้บริการแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายบ่อยขึ้นและให้บริการตั้งแต่เริ่มต้นเป็นจำนวนมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้การควบรวมและซื้อกิจการมีแนวโน้มสำเร็จมากขึ้น

ความท้าทายหลักที่พบภายหลังการควบรวมและซื้อกิจการ (post-deal) คือ ความแตกต่างทางวัฒนธรรมองค์กรและการบริหาร (ร้อยละ 71) ความสอดคล้องของกลยุทธ์ทางธุรกิจ (ร้อยละ 54) และการปรับเปลี่ยนภายในองค์กร (ร้อยละ 43) ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่ตัวเลขเหล่านี้สูง เนื่องจากธุรกิจมากกว่าครึ่งที่ทำการสำรวจไม่ได้มีการวางแผนอย่างจริงจังเกี่ยวกับวิธีจัดการรวมธุรกิจทั้งสองเข้าด้วยกัน (integration planning) หลังการทำข้อตกลงควบรวมกิจการสำเร็จ หนึ่งในประเด็นเรียนรู้สำคัญที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ คือความสำคัญของการวางแผนการจัดการการรวมกิจการทั้งสองเข้าด้วยกันตั้งแต่วันแรก ไปจนถึงอย่างน้อย 100 วันภายหลังการควบรวมและซื้อกิจการ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้การซื้อขายกิจการประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

แนวโน้มการควบรวมและซื้อกิจการในประเทศไทยยังคงจะดำเนินต่อไปในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน การรอดูท่าทีสถานการณ์อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป ธุรกิจในประเทศไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากแนวโน้มเหล่านี้ และในขณะที่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต การตระหนักถึงข้อผิดพลาดและโอกาสของการควบรวมและซื้อกิจการและการเตรียมพร้อมสำหรับการซื้อ การขาย หรือการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอื่น ๆ ควรเป็นส่วนหนึ่งของวาระสำคัญขององค์กร

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก “Better AI” จากโรงพยาบาลกรุงเทพ AI เปลี่ยนวงการสุขภาพ ด้วย 3 ฟีเจอร์เด่น

รู้จัก Better AI จากโรงพยาบาลกรุงเทพ กับ 3 ฟีเจอร์สุดล้ำที่ช่วยสรุปบทความสุขภาพให้ฟัง จับเทรนด์สุขภาพล่าสุด และแนะนำแพทย์ที่เหมาะกับคุณ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน...

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...