ม.มหิดล ผลักดันทักษะในโลกยุคศตวรรษที่ 21 เตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก

ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 สถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกสถาบันการศึกษา ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษาก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก (global citizenship) ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำแนวทางการจัดการศึกษาแบบมุ่งผลลัพธ์ (Outcome based Education) เข้ามาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนและการวัดผล รวมทั้ง นำเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษาของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-QA) มาเป็นกลไกในการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา  และยังได้มองไปถึงโลกอนาคตที่นักศึกษาต้องออกไปเผชิญเมื่อจบการศึกษา จึงได้มีเป้าหมายที่จะพัฒนานักศึกษาไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) มีการบูรณาการหลักสูตรโดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ  และภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศในทุกกลุ่มสาขาวิชา เพื่อพัฒนาทักษะ และประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา

ในส่วนของกิจกรรมเสริมหลักสูตรรูปแบบใหม่เพื่อมุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ในการใช้ชีวิตยุคศตวรรษที่ 21 (global talents) มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นผู้เลือก เพื่อสะสมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต กิจกรรมนี้ คือ “Mahidol HIDEF” เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะความรู้ที่ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในตำราเรียนเท่านั้น ได้แก่ 

1) Health Literacy: ความเข้าใจและสามารถดำเนินชีวิตให้เป็นผู้มีสุขภาพดี 

2) Internationalization: ความเป็นนานาชาติ 

3) Digital Literacy: ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 

4) Environmental Literacy: ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านสิ่งแวดล้อม 

5) Financial Literacy: ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านการเงินเศรษฐกิจและธุรกิจ  ซึ่ง Mahidol-HIDEF เป็นการส่งเสริมทักษะประเภท soft skills และ life skills ที่มีความสำคัญต่อความต้องการของตลาดแรงงานสมัยใหม่ 

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีนโยบายที่เปิดกว้างในด้านการสร้างความเป็นนานาชาติในรั้วมหาวิทยาลัย (Internationalization at Home) โดยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านความเป็นนานาชาติภายในมหาวิทยาลัย และจัดสรรทุนสนับสนุนการเดินทางเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ในต่างประเทศที่ทั่วถึงในทุกกลุ่มสาขาวิชา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เดินทางไปเปิดโลกทัศน์เสริมสร้างประสบการณ์ความเป็นนานาชาติเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยถึงกว่า 3,000 คนต่อปี เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเดินทางไปสร้างเสริมประสบการณ์ทางการศึกษา ณ ประเทศต่างๆทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ทั้งในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระยะสั้น และระยะยาว และการร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้เกิดความตระหนักในความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้เรียนรู้ถึงการเป็นพลเมืองโลกด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ในฐานะที่นักศึกษาจะต้องเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมสีเขียวเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการศึกษาเรียนรู้แก่นักศึกษาและก่อให้เกิดความตระหนักในการรักษาสภาพแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการจัดอันดับ UI Green Metric World University Rankings 2018 เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยและติดอันดับ 1 ใน 100 ของโลกเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน จากเกณฑ์การประเมิน 6 ด้าน คือ สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การจัดการขยะ การใช้น้ำ การจัดการระบบขนส่ง และการศึกษา

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวต่อไปว่า ในปีการศึกษา 2020 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยมหิดล จะปรับรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาจากเดิมรูปแบบหน่วยกิตปรับเป็นรูปแบบเหมาจ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในการส่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดลได้อย่างเต็มที่แก่นักศึกษา   

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดสรรทุนการศึกษาจำนวน 20 ล้านบาทต่อปี สำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งมีทุนการศึกษาที่ได้รับจัดสรรจาก สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และทุนการศึกษาของคณะต่างๆ เพื่อมอบให้แก่นักศึกษาที่เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมหิดล แต่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสศึกษาเล่าเรียน และพัฒนาศักยภาพของตนเองไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

"หน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชา โดยมุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตให้ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของสังคม ซึ่งการสร้างบัณฑิตให้เป็นพลเมืองโลก และมีความรู้ในการใช้ชีวิตยุคศตวรรษที่ 21 บัณฑิตจะต้องรู้ลึกถึงศาสตร์ในวิชาชีพของตน รู้กว้างในการมีทักษะการใช้ชีวิต ปรับตัวได้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวทำให้มั่นใจได้ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่จบการศึกษาออกไป จะมีทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นพร้อมสำหรับการทำงานในโลกปัจจุบันและมีศักยภาพทัดเทียมนานาชาติ" ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าวทิ้งท้าย



ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...