NIA จัดโครงการ The Electric Playground ผลักดันนวัตกรรมจัดการขยะ ด้วยแรงบันดาลใจจาก เกรย์ตา ทุนเบิร์ก

ย้อนกลับไปเมื่อ 1-2 ปีก่อน หลายคนอาจคุ้นชื่อเด็กหญิงชาวสวีเดนตัวเล็กๆ นามว่า “เกรย์ตา ทุนเบิร์ก” (Greta Thunberg) ผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องรัฐบาลอย่างกล้าหาญให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธอตัดสินใจไม่ไปโรงเรียน ออกมาประท้วงต่อรัฐบาลทุกวัน ทำใบปลิวอธิบายปัญหาโลกร้อนแจกแก่ผู้คนที่เดินผ่านไปมา จากนั้นปรับแผนประท้วงทุกวันศุกร์ พร้อมจัดตั้งโครงการ Fridays for Future และสร้างเว็บไซต์ Fridays for Future ศูนย์กลางรายงานกิจกรรมโครงการ และนโยบายการจัดการปัญหาลดโลกร้อนของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งมีเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ เข้าร่วมประท้วงด้วยจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน การกระทำเหล่านี้กระทบใจต่อผู้ใหญ่ ทำให้เกรย์ตาได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีในงานประชุมระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 24 ที่สาธารณรัฐโปแลนด์ และยิ่งทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนกันมากขึ้น อีกทั้งการกระทำของเธอยังสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ตามคำพูดที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า ‘No One Is Too Small to Make a Difference’ หรือ ไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง

เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ยิ่งตอกย้ำว่า เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้น มีพลังทางความคิดที่ต้องการจะเห็นประเทศของพวกเขา และโลกใบนี้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น เฉกเช่น กลุ่มเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยกว่า 10,000 คน จาก 50 โรงเรียน ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่ภูเก็ต และพื้นที่ขอนแก่น ที่ได้เข้าร่วมโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้ความสำคัญและความสนใจต่อการเปลี่ยน “ขยะ” ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ภายใต้การบูรณาการองค์ความรู้แบบ STEAM หลายสาขาทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะล้นโลก และนำความรู้ด้านการจัดการคัดแยกขยะที่ถูกต้องส่งต่อผู้คน ตลอดจนพลิกฟื้นขยะให้มีมูลค่าเพิ่ม และมีประโยชน์คืนสู่ชุมชน และประเทศชาติ

โครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground มุ่งส่งเสริมความรู้เยาวชนระดับมัธยมศึกษา รวมถึงคุณครูให้เข้าถึงองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่แต่ละโรงเรียนฟอร์มทีม ประลองไอเดียแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะเพื่อต่อยอดสู่การทำธุรกิจจริง และเป็นว่าที่ “นวัตกรด้านนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าจากขยะอนาคตไกล” โดยเส้นทางการแข่งขันนี้ เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่จะได้ร่วมเรียนหลักสูตร STEAM4INNOVATOR ผ่านองค์ความรู้ Waste to Energy สู่การแข่งขันปั้นผลงานธุรกิจนวัตกรรมด้วย 4 สเต็ป ได้แก่ 1. รู้ลึก รู้จริง (Insight) 2. สร้างสรรค์ไอเดีย (Wow! Idea) 3. แผนพัฒนาธุรกิจ (Business Model) และ 4. การผลิตและการกระจาย (Production & Diffusion)ในสนามการเรียนรู้ 4 ด่าน ได้แก่ ด่านที่ 1 – EDTRICITY ด่านที่ 2 - ELECTRIC FIELD ด่านที่ 3– ELECATHON และด่านที่ 4 - VOLTAGE STAGE

โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ทางโครงการฯ ได้ดำเนินงานผ่านด่านที่ 1 และด่านที่ 2 มาแล้ว ซึ่งเด็กๆ กว่า 10,000 คน แบ่งเป็น 5 สาย ได้แก่ สาย A อ่อนนุช สาย B หนองแขม สาย C แพรกษา สาย D ขอนแก่น สาย E ภูเก็ต ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านการร่างไอเดียรูปแบบ Worksheet พร้อมทั้งมีกิจกรรมพบศูนย์มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เพื่อนำเสนอผลงานบนเวที Pitching อย่างเข้มข้น ทำให้ค้นพบว่าเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ผลงานการจัดการขยะได้น่าสนใจและหลากหลายอย่างมาก ยกตัวอย่างผลงานบางส่วน ดังนี้

 ทีม ‘ไงครับเคมั้ยครับ’ ตั้งโจทย์ท้าทายว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะลดขยะเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้ง่ายต่อการขนย้ายและกำจัด โดยทำนวัตกรรมเครื่องบีบอัดเฟอร์นิเจอร์ ใช้ AI สแกนเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นเพื่อประเมินสภาพในการแยกชิ้นส่วน หรือสร้างแอปพลิเคชันรับขยะเฟอร์นิเจอร์ไปรีไซเคิลโดยเฉพาะ เพื่อช่วยลดปัญหาแก่เจ้าหน้าที่เก็บขยะ เทศบาล แม่บ้านตามคอนโดมิเนียม ในการขนย้ายขยะขึ้นรถไปจัดการเนื่องจากมีขนาดใหญ่ 

ขณะที่ทีม ‘EFG’  ตั้งโจทย์ท้าทายว่า ต้องการแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ตามครัวเรือน และไม่เป็นพิษต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยจะนำขยะอินทรีย์ผ่านกระบวนการ Microbial Fuel Cell แล้ววัดค่าด้วยโวลต์มิเตอร์ เพื่อทดสอบว่าจะได้พลังงานไฟฟ้าออกมาเท่าใด หรือ ทีม ‘The ideas power’ ตั้งโจทย์ท้าทายว่า ต้องการแก้ปัญหาลดขยะรีไซเคิลและขยะที่ถูกจัดการไม่ตรงจุดตามชุมชน และในโรงเรียน โดยสร้างสรรค์แอปพลิเคชัน Modern Village เพื่อให้รู้เส้นทางขยะว่า ขยะที่ใช้แล้วจะนำไปคัดแยกขยะตามกลุ่มประเภท เช่น ซองขนม ซองกาแฟ จัดส่งไปชมรม หรือชุมชนเพื่อทำกระเป๋ารีไซเคิล หรือเศษอาหารส่งไปทำปุ๋ย นอกจากนี้ยังสร้างฟังก์ชันการซื้อบริการ แลกสะสมแต้มจากการคัดแยกขยะเพื่อความสะดวกสบายและเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน เป็นต้น

ปัทมาวดี พัวพรมยอด ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า สิ่งที่เห็นจากกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ภายใต้การทำงานโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground พบว่าเด็กๆ เกือบ 100% ตระหนักถึงความสำคัญของอนาคตที่แต่ละคนต้องเผชิญเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นในด้านสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมาเด็กๆ หลายคนคุ้นชินกับภาพของขยะที่ยังไร้การกำจัดอย่างถูกวิธี รวมไปถึงผลเสียที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่ธรรมชาติ เช่น ภาพของสัตว์ที่ต้องกินขยะเป็นอาหาร ชุมชนที่รายล้อมไปด้วยสิ่งปฏิกูล หรือแม้แต่กระทั่งสัตว์ทะเลที่ต้องตายไปเนื่องด้วยขยะที่สะสมใต้ท้องทะเล ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลถึงการใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคต แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็พบว่า เด็กๆ หลายคนมีทัศนคติที่ดีต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลง ประกอบกับประเด็นหลักเนื้อหาในหลักสูตรของโครงการที่แสดงให้เห็นว่าขยะสามารถเปลี่ยนเป็นทรัพยากรเพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ทำให้เห็นถึงความพยายามในการเสนอทางออกผ่านการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงมีไอเดียที่มีความสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมกันทำงานกับเด็กๆ เชื่อว่าพลังที่สร้างสรรค์เหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงมูลค่า และเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในอนาคต 

การจุดประกายและกระตุ้นให้เยาวชน – บุคลากรในภาคการศึกษาได้รู้จักการยกระดับปัญหาขยะไปสู่พลังงาน ถือเป็นการขับเคลื่อนอย่างมีพลัง และจะเป็นโมเดลที่จะขยายผลต่อไปในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ โดยขณะนี้ทางโครงการได้โรงเรียน คุณครู และหน่วยงานที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำผลงานออกไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับภาคธุรกิจ และภาคสังคม  ได้เห็นและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกันในอนาคต นอกจากนี้ NIA ยังเชื่อว่าโครงการ The Electric Playground เป็นทางออกในด้านการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะ และเป็นโมเดลที่สำคัญต่อวงการการศึกษาที่สามารถสร้างการตื่นรู้ให้กับอนาคตของชาติสามารถสร้างอนาคตของตัวเองได้อย่างแน่นอน

สำหรับในเดือนกันยายน 2564 นี้ ได้เดินทางมาแล้วครึ่งทาง โดยเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จากทั้งหมด 250 ทีม ได้นำเสนอผลงานบนเวที Pitching ต่อหน้าคณะกรรมการและคัดเหลือ 150 ทีม และคัดเหลืออีก 25 ทีม เข้าสู่ด่านที่ 3 – ELECATHON นำ 25 ทีม เข้าค่ายพัฒนานวัตกรผู้สร้างนวัตกรรมสุดพิเศษ ที่เข้มข้นและลงลึกทุกรายละเอียดเพื่อพัฒนาเหล่านวัตกรไปสู่รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งทั้ง 25 ทีมจะต้องนำเสนอผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับประเทศ กับเหล่าผู้ประกอบการ บริษัท องค์กร หรือกองทุนที่สามารถร่วมลงทุนให้นวัตกรรมหรือธุรกิจที่โดดเด่น เพื่อคัดเหลือสุดยอด 10 ทีมสุดท้าย เพื่อนำผลงานจัดแสดงนิทรรศการ และ 5 ทีมสุดกะทิ เพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ ซึ่งการเข้าค่ายนี้จะครบครันด้วยผู้เชี่ยวชาญทางภาคธุรกิจ กระบวนกร และเมนเทอร์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมให้คำปรึกษาพร้อมแนะแนวทางให้แก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างใกล้ชิดด้วย  

ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดตั้งโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า หรือ The Electric Playground ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ภายใต้แคมเปญ Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้ามาตรา 97(5) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า สามารถติดตามเส้นทางการปั้นนวัตกรรุ่นเยาว์ที่จะร่วมกันแก้ปัญหาขยะ ตลอดจนติดตามความเคลื่อนไหวตลอดโครงการได้ที่ www.facebook.com/TheElectricPlaygroundThailand/

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

รู้จัก “Better AI” จากโรงพยาบาลกรุงเทพ AI เปลี่ยนวงการสุขภาพ ด้วย 3 ฟีเจอร์เด่น

รู้จัก Better AI จากโรงพยาบาลกรุงเทพ กับ 3 ฟีเจอร์สุดล้ำที่ช่วยสรุปบทความสุขภาพให้ฟัง จับเทรนด์สุขภาพล่าสุด และแนะนำแพทย์ที่เหมาะกับคุณ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน...

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...