นักวิจัย ม.มหิดล คิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยข้าวไทย

จากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าระหว่างปี 2554 – 2560 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 21 ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐต้องมีการรณรงค์กันอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจาก "ข้าว" เป็นพืชอาหารที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลกและนับเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดในการส่งออกข้าว ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าไทยส่งออกข้าวเกือบ 4 แสนตันในปี 2562 ที่ผ่านมา 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล ภาควิชาโภชนวิทยาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) - สวก. ได้ริเริ่มโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้เล่าถึงที่มาของโครงการวิจัยว่าเนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วย และมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มมากขึ้นผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศและมีราคาแพง ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องบริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูง ดังจะเห็นได้ว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์ 1 มื้ออาหารต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 บาทขึ้นไป เฉลี่ยต่อวันที่ 5 มื้ออาหาร คือประมาณ 300 บาทต่อวันด้วยเหตุนี้จึงมีการวิจัยถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ให้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในประเทศไทย จากข้าวที่เราปลูกเองในประเทศไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยการสนับสนุนข้อมูลจาก กรมการข้าว กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ได้ข้าวที่เหมาะสมต่อการนำมาทำผลิตภัณฑ์

ที่ผ่านมา อาหารทางการแพทย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนคาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่จะใช้แป้งดัดแปลงจากข้าวโพดหรือมันสำปะหลัง และจะใช้โปรตีนจากน้ำนม ยังไม่พบว่ามีการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อีกทั้งเป็นความต้องการของผู้ป่วยคนไทยที่ชอบบริโภคข้าวมากกว่าอาหารทางการแพทย์ที่มีส่วนผสมของน้ำนม ข้อดีจากการใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตก็คือ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการทำให้ข้าวไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้มากขึ้นอีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล กล่าวต่อไปว่า อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่คิดค้นขึ้นนี้มีสูตรและกระบวนการผลิตที่มีความเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารครบทุกชนิดในปริมาณที่เพียงพอต่อตามความต้องการทางโภชนาการของผู้ป่วย โจทย์ที่น่าสนใจมีอยู่ว่าคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์จะต้องไม่ดูดซึมอย่างรวดเร็ว หรือทำให้น้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ต้องมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับการให้ทางสายให้อาหาร อีกทั้งยังมีการใช้โปรตีนผสมจากพืชที่มีชนิดและปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนชนิดต่างๆในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีการแพ้โปรตีนนม หรือไข่ จึงได้มีการคิดค้นสูตรและกระบวนการผลิตภายใต้แนวคิด “การแยกส่วนของข้าวออก แล้วเติมกลับเข้าในผลิตภัณฑ์เพื่อปรับปรุงให้ได้คุณลักษณะที่ต้องการ” หรือ “remove to improve” เพื่อให้สามารถนำข้าวไทยมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์และผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในระดับอุตสาหกรรม

"การดำเนินโครงการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนของการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์โดยใช้สัตว์ทดลองและส่วนของการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วย ที่ดำเนินงานภายใต้ทีมวิจัยจากแพทย์ เภสัช โภชนาการ และวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ เป็นความร่วมมือจากหลายคณะ และหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการทำงานที่สอดประสานกันโดยดำเนินงานวิจัยร่วมกับบริษัทเอกชนผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีเบาหวาน โดยตั้งเป้าผลิตออกสู่ตลาดภายในต้นปี 2564 ทั้งชนิดพร้อมบริโภคและชนิดผงชงละลาย ที่มีอายุการเก็บรักษานานกว่า 1 ปี ที่ให้ความสะดวกสะอาด และสารอาหารที่ครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและผู้ป่วยที่มีเบาหวาน ซึ่งผลงานวิจัยได้มีการจดอนุสิทธิบัตรแบบ  non-exclusive เพื่อเปิดโอกาสให้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอีกด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...