Temasek ตั้ง Asia Sustainable Foods Platform เร่งช่องทางจำหน่ายอาหารที่ยั่งยืนในเอเชีย

เทมาเส็ก (Temasek) ประกาศเปิดตัว Asia Sustainable Foods Platform เพื่อให้ความสำคัญกับการรับมือความท้าทายด้านการเพิ่มขนาดการผลิตโปรตีนทางเลือก พร้อมเร่งการเติบโตของอาหารที่ยั่งยืนในเอเชีย

Asia Sustainable Foods Platform มีเป้าหมายที่จะมอบโซลูชันและการสนับสนุนในฐานะผู้เปิดโอกาส ผู้ประกอบการ และนักลงทุน แก่บริษัทเทคโนโลยีอาหาร เมื่อบริษัทเหล่านี้ดำเนินการผ่านวงจรตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จนถึงการขยายขนาดเชิงพาณิชย์

  • ในฐานะผู้เปิดโอกาส แพลตฟอร์มนี้จะให้คำปรึกษาด้านการวิจัยและพัฒนาและอำนวยความสะดวกให้การผลิตนำร่อง เพื่อสนันสนุนให้ธุรกิจเทคโนโลยีอาหารเร่งการทำผลิตภัณฑ์ตนเองออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์
  • ในฐานะผู้ประกอบการ แพลตฟอร์มนี้จะให้ความสามารถด้านการผลิต ควบคู่ไปกับข้อมูลตลาดเชิงลึกในด้านโอกาสทางการค้า เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจทั่วเอเชีย และ
  • ในฐานะนักลงทุน แพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ มีเครือข่ายการเชื่อมโยงเชิงกลยุทธ์และจัดสรรเงินทุนแก่บริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารที่มีแววสดใส

คุณ Yeoh Keat Chuan รองหัวหน้ากลุ่มพัฒนาองค์กรของเทมาเส็ก กล่าวว่า "เอเชียน่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1.55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาต้องการตัวเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นและยั่งยืนกว่าเดิม เราจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถปัจจุบันของเรา เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและยกระดับซัพพลายเชน"

คุณ Yeoh Keat Chuan กล่าวเสริมว่า "เทมาเส็กได้ลงทุนเป็นเงินกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในห่วงโซ่มูลค่าจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (farm-to-fork) ทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2556 และจะยังคงเพิ่มการลงทุนของเราในด้านนี้ต่อไป สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมภาคการเกษตรที่ครอบคลุมถึงอาหาร Asia Sustainable Foods Platform มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนธุรกิจในท้องถิ่นและภูมิภาค ส่งเสริมนวัตกรรม การยกระดับ และการค้า"

Asia Sustainable Foods Platform จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาหารเข้ามาเป็นทีมหลัก นำโดยคุณ Mathys Boeren ซึ่งเป็นซีอีโอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ โดยก่อนมาดำรงตำแหน่งกับทาง Platform นี้ คุณ Boeren เคยทำงานในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมส่วนประกอบอาหารมากว่า 25 ปี ในระหว่างนั้นได้ทำงานร่วมกับยูนิลีเวอร์ (Unilever), จีวอฎัน (Givaudan), ซิมไรส์ (Symrise) และเคอรี่ (Kerry) ซึ่งในช่วงหลัง ๆ นี้ เขาได้ให้คำแนะนำแก่บรรดาสตาร์ทอัพในแวดวงอาหารที่ยั่งยืน เกี่ยวกับการจัดการคุณลักษณะผลิตภัณฑ์และความถึงพอใจของผู้บริโภคให้สอดคล้องกัน

คุณ Boeren เน้นว่า "ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราแตกต่างคือความสามารถที่เรามีอย่างครบเครื่อง ในการเป็นผู้เปิดโอกาส ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ที่นำเสนอโซลูชันตามความต้องการและการสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีอาหารที่ทะเยอทะยานในทุกขั้นของวงจรการเติบโต การสนับสนุนของเราในการขจัดอุปสรรคในการปรับใช้ ทำให้บริษัทต่าง ๆ เร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเปิดตัวนำร่องได้ พร้อมเร่งการขยายขนาดเชิงพาณิชย์และการออกสู่ตลาด ในท้ายสุด เป้าหมายของเราคือการทำให้ผู้บริโภคทั่วเอเชียพึงพอใจกับรสชาติ ความสด ช่องทางติดตามแหล่งที่มา และอาหารที่ยั่งยืน"

เร่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ด้วยศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร (FTIC)

Asia Sustainable Foods Platform และสถาบันอาหารและนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพสิงคโปร์ (SIFBI) ในสังกัด A*STAR ประกาศลงทุนกว่า 30 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร (FTIC) ในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารที่มีแววดี

FTIC จะเป็นศูนย์แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพเทคโนโลยีอาหารที่มีไฟแรง เข้าถึงโรงงานนำร่องระดับฟู้ดเกรดได้ เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์การอัดขึ้นรูปและการหมัก ห้องปฏิบัติการร่วม ครัวทดลอง พื้นที่ทำงานร่วม รวมถึงความรู้ในด้านการวิจัยและพัฒนาอันล้ำลึกของ A*STAR

ดร. Hazel Khoo ผู้อำนวยการบริหารของ SIFBI กล่าวว่า "SIFBI รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เป็นพันธมิตรกับ Asia Sustainable Foods Platform ที่ก่อตั้งใหม่ของเทมาเส็กบน FTIC ซึ่งจะให้ความสามารถในระดับนำร่องที่จำเป็นอย่างมากสำหรับบริษัทโปรตีนทางเลือก (AP) เพื่อลดเวลาการออกสู่ตลาด เราคาดหวังว่าความร่วมมือนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวบริษัทในแวดวง AP และมีบทบาทต่อภูมิทัศน์เทคโนโลยีอาหารที่รุ่งเรืองและสดใสในสิงคโปร์"

สิ่งนี้จะแก้ไขปัญหาสำคัญ 2 จุดที่ธุรกิจเทคโนโลยีอาหารต้องเผชิญในการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาด เช่น เวลารอคอยที่ยาวนานสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์นำร่อง การขาดความสามารถในการพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์เชิงลึก และความยากลำบากในการทำตามกระบวนการกำกับดูแลและทำความเข้าใจในตลาดที่ไม่คุ้นเคยในพื้นที่อื่น ๆ ของเอเชีย

นอกจากนี้ FTIC ยังมีความยินดีที่จะประกาศว่า Next Gen Foods ซึ่งเป็นคู่ค้ารายแรก จะจัดตั้งศูนย์ R&D และนวัตกรรมระดับโลกขึ้นภายใน FTIC ทั้งนี้ Next Gen Foods คือบริษัทสตาร์ทอัพด้านอาหารที่สร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชที่ทั้งอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีความยั่งยืน โดยเริ่มด้วยเมนูไก่ที่ทำจากพืชยอดฮิตอย่าง TiNDLE วางจำหน่ายแล้วในร้านอาหารกว่า 150 แห่งทั่วทั้ง 7 ตลาดในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง

"แก่นแท้ของ Next Gen Foods คือการอุทิศตนเพื่อสร้างสรรค์อาหารโปรตีนจากพืชที่ไม่เพียงมีความยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ และขยายตลาดได้อีกด้วย" คุณ Timo Recker ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Next Gen Foods กล่าว "เราทำสิ่งนี้ได้โดยผ่านความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโตของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และเราตื่นเต้นมากที่จะได้เป็นบริษัทแรกที่หยั่งรากลงใน FTIC ใหม่ล่าสุด นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการสร้างผู้เล่นที่มีอิทธิพลระดับโลกในสิงคโปร์ และเรารู้สึกขอบคุณพันธมิตรที่ A*STAR และ Asia Sustainable Foods Platform ของเทมาเส็ก ที่ได้ร่วมภารกิจกับเราในการสร้างระบบอาหารที่ดีขึ้นเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต"

ขีดความสามารถที่แข็งแกร่งในการผลิตร่วมกับผู้เล่นชั้นนำในอุตสาหกรรม

Asia Sustainable Foods Platform กำลังศึกษาการร่วมทุนกับ 2 บริษัท ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระดับโลกในด้านโปรตีนจากพืชและโปรตีนจากจุลินทรีย์

ความร่วมมือในรูปแบบของการร่วมทุนกับ CREMER ซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติจากเยอรมนีด้านการเกษตร-อาหารที่เชี่ยวชาญด้านโปรตีนจากพืชนั้น จะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของ Platform สำหรับผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช โดยหัวใจสำคัญของกระบวนการนี้คือการอัดรีดความชื้นสูง (HME) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับการผลิตโปรตีนที่มีเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มากกว่าเทคนิคการผลิตโปรตีนจากพืชแบบอื่น ๆ ทั้งนี้ การลงทุนของ Platform และการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนนี้ ต้องได้รับการอนุมัติและการยินยอมตามกฎระเบียบที่จำเป็นทั้งหมด

ด้วยเทคโนโลยีอุบัติใหม่นี้เอง ทำให้ความเชี่ยวชาญของ CREMER ในการผลิตตามสัญญาและการดำเนินงานโรงงาน HME อื่น ๆ ทั่วโลก จะเป็นตัวสนับสนุนที่ขาดไม่ได้สำหรับธุรกิจในด้านนี้ ที่มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่มีศักยภาพและขีดความสามารถด้าน HME ที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย

คุณ Damian Krueger ผู้จัดการทั่วไปด้านโภชนาการที่ยั่งยืนของ CREMER กล่าวว่า "สำหรับ CREMER แล้ว ลูกค้าเป็นจุดเริ่มต้นในการตัดสินใจของเราเสมอมา เราปรับปรุงและพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อลูกค้าของเราในโลกอนาคต เราตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน สุขภาพ และอาหารโปรตีนจากพืชในการสนับสนุนอีโคซิสเต็มด้านอาหารทั่วโลก CREMER จึงต้องการมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเทรนด์เหล่านี้ โดยให้ความรู้ด้านการผลิตที่เราสั่งสมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ CREMER นำความสามารถด้าน HME มาเผยแพร่ในเอเชีย โดยมีเป้าหมายที่จะให้การสนับสนุนด้านการผลิตแก่ชุมชนโปรตีนจากพืชที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่นี่"

Asia Sustainable Foods Platform ยังได้ลงนามในข้อตกลงกับ ADM อีกด้วย โดย ADM เป็นผู้นำระดับโลกด้านโภชนาการที่จะปูทางไปสู่การร่วมทุน เพื่อช่วยเปิดทางสู่บริการผลิตและพัฒนาตามสัญญาสำหรับโปรตีนจากจุลินทรีย์ที่ผลิตผ่านการหมักแบบแม่นยำ ความสามารถระดับโลกและความเชี่ยวชาญด้านการหมักที่เป็นนวัตกรรมของ ADM จะช่วยให้บริษัทเทคโนโลยีอาหารขนาดเล็กที่มีอยู่ ขยายนวัตกรรมการหมักของตนจนถึงระดับนำร่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (EDB)

"เราได้พูดคุยกับนักนวัตกรรม ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงผู้ให้บริการด้านอาหารที่อิ่มตัวแล้วในสิงคโปร์และทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก และพวกเขาบอกเราว่าตนตั้งตารอคอยคู่ค้าที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำสำหรับอาหารได้" คุณ Joe Taets ประธาน ADM ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว "การร่วมทุนที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้ในสิงคโปร์จะตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ และจะช่วยต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมโปรตีนทางเลือกในเอเชียแปซิฟิก"

คุณ Damian Chan รองประธานบริหารของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ กล่าวว่า "EDB มีความยินดีที่ได้สนับสนุน ADM และ Asia Sustainable Foods Platform ของเทมาเส็ก ในการสั่งสมความเชี่ยวชาญด้านการหมักแบบแม่นยำในสิงคโปร์ การร่วมทุนดังกล่าวตอบสนองความต้องการของนักนวัตกรรมในการพัฒนาและขยายตลาดโซลูชันการหมัก ที่ช่วยให้พวกเขาให้บริการลูกค้าทั่วโลกจากสิงคโปร์ได้ การร่วมทุนครั้งนี้จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับอีโคซิสเต็มด้านเกษตรอาหารของเราผ่านการสร้างความมั่นใจว่า โครงสร้างพื้นฐานและความสามารถทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะพร้อมกระตุ้นนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านเกษตรอาหาร"


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...