วิจัยกรุงศรีเล็งปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทย ปี 64-65 หลังเศรษฐกิจไตรมาส 3 ฟื้นตัวจากหลายปัจจัย

วิจัยกรุงศรีรายงานว่า GDP ไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าคาดที่ -0.3% YoY คาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจฟื้นกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้เร็วกว่าเดิม

GDP

สภาพัฒน์ฯ รายงาน GDP ใน 3Q2564 หดตัว -0.3% YoY จากขยายตัว 7.6% ในไตรมาสก่อน  ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงของ COVID-19 แต่อัตราการติดลบดังกล่าวน้อยกว่าที่ตลาดและวิจัยกรุงศรีคาดไว้ที่ -1.3% และ -1.1% ตามลำดับ เนื่องจากได้แรงหนุนจาก 

  • การใช้จ่ายของภาครัฐที่เร่งขึ้น 

  • มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนทำให้การบริโภคสินค้าไม่คงทนในหมวดอาหารยังเติบโตได้แม้ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนจะหดตัว 

  • การเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังในไตรมาสนี้นับว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ

  • การส่งออกสินค้าและบริการที่ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกบริการที่เร่งขึ้นจากค่าบริการขนส่งสินค้าที่ขยายตัวดีตามปริมาณการค้าระหว่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐหดตัวแรงจากการก่อสร้างที่ลดลง สำหรับภาคการผลิต ผลกระทบจากการระบาดที่รุนแรงทำให้การผลิตบางสาขากลับมาหดตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต (-1.4%) และภาคก่อสร้าง
(-4.1%) ขณะที่สาขาบริการในส่วนที่พักแรมและร้านอาหารยังคงหดตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง (-18.7%) อย่างไรก็ตาม สาขาเกษตรกรรม (+4.3%) และสาขาบริการบางส่วนเติบโตดี อาทิ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (+6.8%) การเงินและประกันภัย  (+3.5%) ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.3% ล่าสุดสภาพัฒน์ฯ ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นขยายตัว 1.2% (เดิมคาด 0.7%-1.2%) และคาดปี 2565 เติบโตที่ 3.5%-4.5%

วิจัยกรุงศรีเตรียมปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2564 และ 2565 โดยมีปัจจัยหนุนจาก

  • GDP ไตรมาส 3 หดตัวน้อยกว่าคาด

  • การกระจายวัคซีนที่เร่งขึ้น ล่าสุดทางการตั้งเป้าฉีดวัคซีน 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ (เดิมตั้งเป้าสิ้นปีนี้) ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

  • สัญญาณเชิงบวกจากการลงทุนภาคเอกชนที่อาจได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและกิจกรรมเศรษฐกิจของโลกที่ทยอยฟื้นตัวเป็นลำดับ 

  • มาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะยังมีบทบาทสำคัญ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมแล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทย (Thai GDP level) มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวเหนือระดับก่อนการระบาดได้เร็วกว่าเดิม 1-2 ไตรมาส (เดิมคาดไตรมาส 1/2566)\

https://www.krungsri.com/getmedia/7672e5ab-9abd-44fb-8d45-6a7aa438bd98/wk-211116-f5.jpg.aspx 

ในส่วนของ กนง. บ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อมาจากปัจจัยชั่วคราว พร้อมส่งสัญญาณไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 พฤศจิกายน มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วและเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว  จากการใช้ภายในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเร่งกระจายวัคซีน และตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จึงคาดการณ์ว่า GDP ปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับประมาณการในการประชุมครั้งก่อน  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานโลกเป็นหลัก   

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า แม้ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะลดลง และมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น อีกทั้งหลายประเทศเตรียมทยอยปรับลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินกันบ้างแล้ว แต่ในส่วนของไทยคาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า เนื่องจาก 

  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับเพิ่มขึ้นในระยะสั้น โดยอาจเห็นแตะระดับ 3% ได้ในบางเดือนของไตรมาส 1/2565 ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานที่ต่ำในช่วงต้นปี 2564 แต่จะบรรเทาลงในช่วงที่เหลือของปี 2565 สอดคล้องกับมุมมองของธปท. ที่ประเมินว่าน้ำมันในตลาดโลกจะเผชิญภาวะอุปทานส่วนเกิน (excess supply) ตั้งแต่ไตรมาส 2/2565

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางภายใต้ความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยที่ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาด

  • จากถ้อยแถลงของกนง. ที่ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ  ชี้ว่าทางการจะยังดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยรวมแล้ว วิจัยกรุงศรีจึงคาดว่ากนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% อย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...