วิจัยเผย 4 วัฒนธรรมการพูดคุยที่ทรงพลังบน Twitter ประเทศไทย

Twitter เป็นพื้นที่ที่ผู้คนเข้ามาพูดคุยและคอนเน็คกัน ทำให้เกิดชุมชนต่าง ๆ และผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนาอย่างต่อเนื่อง คนไทยเข้ามาบน Twitter เพื่ออัปเดตว่ามีอะไรที่กำลังเกิดขึ้น #WhatsHappening ตลอดจนเข้าร่วมบทสนทนาในหัวข้อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวงการบันเทิง กีฬา รายการทีวี ภาพยนตร์ ความงาม หรือสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้คนจะเข้ามาค้นหาและแชร์เรื่องราวที่เป็นข้อมูลอัปเดตล่าสุดของหัวข้อเรื่องนั้น ๆ ตลอดจนเรื่องราวอีกมากมายที่เกิดขึ้นบน Twitter

บทสนทนา ถือเป็นหัวใจของ Twitter จะเห็นได้ว่า เพียงทวีตเดียว ก็สามารถสร้างอิมแพ็คไปในวงกว้างได้ Twitter จึงได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาลงลึกในกว่า 64,000 ทวีตบน Twitter ประเทศไทย เพื่อค้นหาพลังของทวีตและชาวทวิตภพว่ามีวิธีกำหนดวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างไรผ่านชุมชนและบทสนทนา

นายมาร์ติน ยูเรน หัวหน้าแผนกงานวิจัย ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและระดับโลกของ Twitter เปิดเผยว่า “เป้าหมายของ Twitter ตั้งแต่แรกเริ่มคือการได้ทราบถึงมุมมองที่ถูกต้องแม่นยำในบทสนทนาของคนไทยบน Twitter แม้บางครั้งบางบทสนทนาสามารถส่งเสียงได้ดังกว่าบทสนทนาอื่น ๆ แต่สิ่งที่เราค้นพบ คือ บทสนทนาของคนไทยมีความหลากหลายและมีชีวิตชีวา ผลจากงานวิจัยของ Twitter แสดงให้เห็นว่า หัวข้อในการสนทนามีการทับซ้อนกันอย่างน่าสนใจจนทำให้เกิดเป็นธีมทางวัฒนธรรมหลัก 4 รูปแบบ ซึ่งการค้นพบของเราในครั้งนี้จะช่วยให้คนไทยมีความเข้าใจชุมชนที่หลากหลายบน Twitter ได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกให้กับแบรนด์ไทยและต่างชาติได้ทราบถึงหัวข้อและธีมของการสนทนาอันเป็นเอกลักษณ์บน Twitter ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน”

การวิจัยนี้พบวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของการพูดคุยบน Twitter ประเทศไทย 4 รูปแบบ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อบทสนทนาที่มีความชัดเจนถึง 11 หัวข้อ แสดงให้เห็นว่า การแสดงออกของชาวทวิตภพนั้นสะท้อนถึงวัฒนธรรมไทย ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความชอบและความสนใจต่าง ๆ ในบทสนทนาอย่างหลากหลายและกระจายในวงกว้างมากซึ่งนับเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนบน Twitter ในประเทศไทย โดยวัฒนธรรมการพูดคุยใน 4 หัวข้อนั้น ได้แก่

1. บันทึกส่วนตัว 

การพูดคุยในชีวิตประจำวัน, ความรักและความสัมพันธ์ และการสะท้อนมุมมองความคิด 

ธีมวัฒนธรรมการพูดคุยนี้นับได้ว่ามีพื้นที่บน Twitter มากที่สุดโดยมีสัดส่วนถึง 45% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบน Twitter ประเทศไทย และเป็นหัวข้อที่ผู้คนเข้ามาร่วมพูดคุยในชีวิตประจำวัน โดยมีการแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับกิจวัตรการเดินทาง และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของตัวเอง นอกจากนี้ Twitter ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการที่ผู้คนบอกเล่าเรื่องจริงจากใจและทวีตเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ ทั้งในเรื่องของข้อบกพร่องของตัวเอง ความปรารถนาต่าง ๆ และการมีช่วงเวลาที่ดีกับคนสำคัญของพวกเขา

ชาวทวิตภพมักจะแชร์ปัญหาที่พบเจอในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองความคิดต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวที่เอามาแชร์อาจจะเป็นแค่เรื่องของการปวดเมื่อยร่างกายเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาการปวดหัวหรืออาการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า จนถึงการชอบแสดงความคิดเห็นในเรื่องของสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนจนแทบทนไม่ไหวและอยากให้ฤดูฝนมาถึงไว ๆ

2. เชื่อมต่อกับคนคอเดียวกัน 

เหตุการณ์ปัจจุบัน, แพสชั่น และตลาดนัดออนไลน์

Twitter ได้กลายเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อชีวิตของคนไทย จากงานวิจัยพบว่า การเชื่อมต่อกับคนคอเดียวกัน มีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบน Twitter ประเทศไทย คนไทยได้ใช้ Twitter อย่างกระตือรือร้นเพื่อให้มีการเชื่อมต่อกับชุมชนของเขาอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเพื่อเป็นการอัปเดต #WhatsHappening  ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น โดยคนไทยมักจะทวีตเกี่ยวกับหลากหลายเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เรื่องโควิด-19 สกุลเงินคริปโต ไปจนถึงการเมืองในประเทศและในแถบภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี กีฬา อาหาร หรือการช้อปปิ้ง ชาวทวิตภพมักจะแชร์แพสชั่นที่มีต่อหัวข้อเรื่องดังกล่าวบน Twitter ตั้งแต่เรื่องของความงาม อาหาร ร้านอาหาร และเทรนด์แฟชั่นล่าสุด คนไทยมีความกระตือรือร้นที่จะรีวิวสินค้าที่พวกเขาซื้อมาหรือสถานที่ที่ได้ไปมา สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ Twitter คือ สถานที่ในการขายสินค้าได้เป็นอย่างดี อาทิ อาหารพวกโฮมคุ้กกิ้ง ขนมหวาน เสื้อผ้า สินค้าจากบรรดาแฟนด้อมและงานฝีมือ คนไทยสามารถทำให้ Twitter กลายเป็นตลาดนัดออนไลน์ ที่พวกเขาสามารถทำได้ทั้งนำเสนอสินค้าและแสดงความคิดสร้างสรรค์บน Twitter

3. สิ่งสวยงามที่ดีต่อใจ

แกลอรี่ศิลปะ, คนดังและแฟนด้อม, และความหวังและความฝัน

บทสนทนารูปแบบนี้มีสัดส่วน 16% ของปริมาณบทสนทนาทั้งหมดบน Twitter ประเทศไทย ชาวทวิตภพจะทวีตข้อความเกี่ยวกับความสนใจที่มีร่วมกัน ซึ่งสามารถสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ด้วย การทำแกลอรี่ศิลปะ เหมือนเวลาที่ทำอัลบั้มรูปภาพหรือการทำหนังสือ scrapbook เพราะคนที่ใช้ Twitter ชอบแชร์สถานที่สวย ๆ หรือสิ่งของที่สวยงามในชีวิตประจำวัน เช่น ภาพคาเฟ่ บ้านสวย ๆ วิวธรรมชาติ ชายหาดสวย ๆ และอื่น ๆ 

คนดังและแฟนด้อม ก็เป็นอีกหนึ่งหัวข้อของบทสนทนายอดนิยม ซึ่งเป็นการสนทนาที่สนุกสนานและมีสีสันเป็นอย่างมาก การทวีตถึงศิลปิน K-Pop โดยเฉพาะศิลปินชาวไทยอย่างแบบแบม (@BamBam1A) และ #Lisa จากวงแบล็กพิงค์  (@BLACKPINK) จนถึงศิลปินในประเทศอย่างเป๊ก ผลิตโชค(@peckpalit), วง 4EVE (@4eveOfficial) เรียกได้ว่าคนไทยนั้นเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเซเล็บดาราไทยที่แท้จริง

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่และสร้างความยากลำบากให้กับหลาย ๆ คน Twitter ยังเห็นว่าคนไทยมีความหวังและความฝัน ซึ่งเห็นได้จากธีมหลักของบทสนทนาที่ผู้ใช้งานจะทวีตถึงความหลังในอดีตถึงทริปที่เคยไปเที่ยวและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปเม้นต์ถามคนอื่น ๆ ว่า “หลังหมดโควิดแล้ววางแผนจะไปเที่ยวที่ไหน”

4. การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง

การเฉลิมฉลอง และ พลังบันดาลใจ 

การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้างคิดเป็นสัดส่วน 4% ของบทสนทนาทั้งหมด โดยใจความของบทสนทนาในธีมนี้มุ่งสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจในการแสดงด้านที่ดีที่สุดของตัวเองออกมา ในอีกด้าน Twitter ก็เปรียบเสมือนเป็นพื้นที่ของการเฉลิมฉลอง ชาวทวิตภพมีความภูมิใจในการแบ่งปันความสุขและเฉลิมฉลองในทุกเหตุการณ์ อาทิ งานฉลองสำเร็จการศึกษา การได้เกรดดี ๆ วันเกิด หรือ การฉลองครบรอบ ฯลฯ

คนไทยนั้นต่างมีน้ำใจโอบอ้อมอารีในการทำให้อีกฝ่ายมีความรู้สึกที่ดีขึ้น ในแบบของ พลังบันดาลใจ Twitter จึงเปรียบเสมือนเครือข่ายในการช่วยเหลือสนับสนุนกัน ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทวีตข้อความทั่ว ๆ ไปที่เป็นการส่งพลังบวกให้กับทุกคนในชุมชนโดยรวม ไม่ได้เป็นการระบุเจาะจงถึงบุคคลใดแต่เป็นการให้กำลังใจกับคนอื่น ๆ ที่ต้องการกำลังใจอาจเลื่อนทวีตผ่านมาเห็น

แบรนด์จะเชื่อมต่อกับแต่ละคอมมูนิตี้และบทสนทนาได้อย่างไร?

ด้วยบทสนทนา 10 หัวข้อที่เป็นตัวกำหนดธีมทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ 4 รูปแบบของผู้ใช้งาน Twitter ในประเทศไทย ทำให้เห็นว่ายังมีพื้นที่ว่างมากมายมหาศาลบน Twitter ที่รอให้แบรนด์เข้าไปเชื่อมต่อและสามารถสร้างความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับกลุ่มเป้าหมายได้ ดังนั้นโอกาสกำลังรออยู่ ซึ่งตอนนี้แบรนด์ต้องมาถึงทางแยกที่ต้องเลือกว่าจะยังคงเดินหน้าต่อไปบนถนนที่ราบเรียบ ทางเดินง่าย ๆ กับผลลัพธ์ที่ลดน้อยถอยลง หรือจะเลือกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมในบทสนทนากับชาวทวิตภพ ซึ่งแบรนด์ยุคใหม่จะลงทุนในการเรียนรู้ถึงประเภทต่าง ๆ ของคอมมูนิตี้ชุมชนและบทสนทนาบน Twitter และเข้าไปสร้างความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมกับกลุ่มลูกค้าของแบรนด์ในแบบที่จริงแท้มากยิ่งขึ้น จนสามารถสร้างผลลัพธ์ได้ดีในที่สุด

บน Twitter มีผู้คนหลากหลาย มีบทสนทนาในแง่บวกมากมาย และยังประกอบด้วยคอมมิวนิตี้ที่มีความสร้างสรรค์หลายกลุ่มที่ทำให้ Twitter เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับแบรนด์ โดยจากข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้จ่ายของผู้ใช้ Twitter กับการรับรู้ถึงความเกี่ยวข้องทางวัฒนธรรมของแบรนด์สูงถึง 88% ในขณะที่ 25% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าจากการพิจารณาถึงแบรนด์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในวัฒนธรรมของพวกเขา 

“หลายแบรนด์เริ่มต้นวางแผนการทำการตลาดด้วยแนวคิดที่คิดไปก่อนล่วงหน้า เช่น Twitter เป็นแบบนั้นเป็นแบบนี้ แต่ Twitter เป็นพื้นที่ที่หลากหลายสำหรับผู้คนที่หลากหลายแตกต่างกัน และหลายแบรนด์ก็เริ่มที่จะเข้าใจในจุดนี้ Twitter เป็นการรวบรวมผู้คนที่หลากหลายและคิดเห็นต่างกัน ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่แบรนด์สามารถเข้ามาศึกษาเพื่อช่วยให้เข้าใจความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น” นายมาร์ติน ยูเรน กล่าวเสริม

1.บันทึกส่วนตัว: ควรสร้างแบรนด์แบบค่อยเป็นค่อยไป แต่สม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสื่อสารเชิงองค์กรที่มากเกินไป

พื้นที่การสนทนากลุ่มนี้มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดบน Twitter แต่มีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายนี้ หากแบรนด์ใดก็ตามที่ใช้โอกาสนี้ก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากบทสนทนามีศูนย์กลางเป็นเรื่องราวกิจวัตรและสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ดังนั้นการขายแบบฮาร์ดเซลล์ที่จงใจขายแบรนด์และผลิตภัณฑ์แบบโจ่งแจ้งชัดเจน จะไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร แบรนด์ควรจะมองหาวิธีในการสร้างแบรนด์แบบค่อยเป็นค่อยไป สร้างเสียงที่เป็นลักษณะเฉพาะของแบรนด์ขึ้นมาและ engage กับผู้บริโภค เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในระยะยาว

2. การเชื่อมต่อกับคนคอเดียวกัน: ความเร็ว และเนื้อหาที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย คือหัวใจสำคัญในการเชื่อมต่อ

สำหรับธีมของการสนทนานี้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนกำลังมองหาข่าวสารที่ย่อยง่ายและข้อมูลที่อัปเดตเกี่ยวกับเหตุการณ์ล่าสุด แบรนด์ที่อยากเข้ามาสื่อสารกับพื้นที่ในส่วนนี้ควรจะสื่อสารด้วยเนื้อหาที่อัปเดต ทวีตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรือการขายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ถึงจะสามารถส่งเสียงสะท้อนไปถึงกลุ่มคนได้ดี เอนเกจเม้นต์ของพื้นที่ในธีมนี้ค่อนข้างน้อย ดังนั้นสิ่งที่มีความสำคัญแบรนด์ควรจะต้องพิจารณาคือต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจน กระชับ ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถดำเนินการได้ในทันที

3. การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง: กุญแจหลักที่ต้องมี คือ เนื้อหาเชิงบวก ผ่อนคลาย และให้กำลังใจ

พื้นที่การสนทนาในกลุ่มนี้ต้องภาพประกอบสวยงามซึ่งชาวทวิตภพมีแนวโน้มที่จะแชร์รูปภาพที่มีเนื้อหาตรงใจพวกเขามากที่สุด การจัดวางองค์ประกอบภาพที่มีข้อความประกอบเพียงเล็กน้อยจะสามารถดึงดูดความสนใจได้ เพราะสิ่งที่ผู้คนต้องการซื้อคือความความรู้สึก ไม่ใช่สิ่งของ เช่น ความรู้สึกที่พวกเขาได้รับจากการซื้อสินค้าแฟชั่นที่เป็นเทรนด์ใหม่ล่าสุดมาใช้ เช่น ลิปสติกรุ่นใหม่ล่าสุดหรือน้ำหอมกลิ่นใหม่ล่าสุด แบรนด์ควรจะสร้างมู้ดแอนด์โทนที่สนุกสนานและกระตุ้นอารมณ์เชิงบวกด้วยการใช้ภาพที่สร้างสรรค์ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายให้แน่นแฟ้นและช่วยเสริมแกร่งแบรนด์ให้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้าอยู่ตลอด

4.การส่งพลังบวกให้ตัวเองและคนรอบข้าง: อาวุธหลักในการดึงความสนใจ คือ รูปที่สวยงาม และสะดุดตา 

ธีมการสนทนากลุ่มนี้จัดได้ว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีแง่มุมในการสร้างความรู้สึกดี ๆ บน Twitter สำหรับแบรนด์ที่อยากสร้างความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายบนบทสนทนาพื้นที่นี้ ควรจะแชร์ข้อความที่มีเนื้อหาสบาย ๆ สอดแทรกอารมณ์ขัน และสร้างความรู้สึกดี ๆ ส่วนคอนเท้นต์ที่ต้องการแอคชั่นควรจะสร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นได้ในทันทีและกระตุ้นให้เกิดการซื้อ เช่น ทวีตเกี่ยวกับการขายสินค้าที่มีความโดดเด่นสะดุดตา การร่วมแข่งขัน หรือโปรโมชั่นต่าง ๆ

ชาวทวิตภพนั้นทรงอิทธิพล มีความคิดที่เปิดกว้าง และยังสามารถขับเคลื่อนผลลัพธ์ต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเกี่ยวกับพลังบทสนทนาของ Twitter ได้ที่ https://marketing.twitter.com 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...