ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มผันผวน จากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนรอบใหม่

ตลาดหุ้นโลกส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น และความคาดหวังเกี่ยวกับความคืบหน้าในการผลิตยารักษาโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ตลาดฯ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน 

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับแรงหนุน หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังเป็นไปในเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง โดย Fed พร้อมใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ลดช่วงบวก และปิดลบเล็กน้อย เนื่องจาก นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านการค้าครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ เพื่อตอบโต้จีน ที่เป็นต้นตอของโรคโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) มีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม 

โดยยกเลิกเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงผ่อนคลายมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ สำหรับตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้น หลังธนาคารรายใหญ่ของจีน เปิดเผยกำไรในไตรมาส 1/2020 เพิ่มขึ้น และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์ และผู้ผลิตน้ำมันหลายราย ระบุว่า จะปรับลดการผลิตลง 

ซึ่งรวมถึง นอร์เวย์ ที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรปตะวันตก จะปรับลดการผลิตน้ำมันลงในเดือนมิ.ย.-ธ.ค. โดยเป็นการปรับลดการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี และจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐฯ ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 และต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2016

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ขู่ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่ เพื่อตอบโต้จีนที่เป็นต้นตอของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจาก ความกังวลผลกระทบของโควิด-19 ต่อการหดตัวของเศรษฐกิจโลก และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2020  ที่มีแนวโน้มหดตัวลง อย่างไรก็ดี ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจาก ความคาดหวังที่ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว 

จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในหลายประเทศ และความคาดหวังในการพัฒนาวัคซีน / ยาต้านโควิด-19 รวมถึงการที่ธนาคารกลางหลักต่างๆ ซึ่งรวมถึง Fed, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ BoJ ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง และน่าจะพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากมีความจำเป็น ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศ ได้ออกมาตรการทางการคลังจำนวนมาก เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่มีต่อภาคธุรกิจ ด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน น่าจะปรับลดลง หลังกองทุน US Oil Fund ได้เสร็จสิ้นการขายสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบที่จะครบกำหนดในเดือนมิ.ย. ที่ถือครองอยู่ทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนรูปแบบในการลงทุนใหม่ 

ซึ่งจะมีการกระจายการลงทุนในสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบในสัญญาระยะยาว และหลายช่วงอายุมากขึ้น โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว จากความคาดหวังว่า ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา หลังการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก และประเทศพันธมิตร นำโดยรัสเซีย (OPEC+) ปริมาณ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน จะเริ่มขึ้นในเดือนพ.ค.นี้ สำหรับตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มผันผวนตามตลาดหุ้นโลก และอาจถูกกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจาก ในเดือนพ.ค. จะเป็นช่วงที่มีการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของกลุ่มภาคธุรกิจ (Real Sector) ค่อนข้างมาก ขณะที่การประกาศ 6 มาตรการผ่อนปรนกลุ่มแรก โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) น่าจะถูกรับรู้ (Priced-in) ไปในดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว 

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

•    ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ 

•    การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ยุโรป และไทย

•    การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) (7 พ.ค.) คาดว่า BoE มีแนวโน้มคงนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของ BoE น่าจะเป็นไปในเชิงผ่อนคลายต่อเนื่อง และน่าจะพร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม หากจำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19

•    การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ (8 พ.ค.)

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ยุโรปและอังกฤษ, ดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Caixin) และยอดนำเข้า-ส่งออกของจีน, อัตราเงินเฟ้อของไทย, ดุลการค้า จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน การจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ 
  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ, การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2020 ของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ยุโรป และไทย, ผลการประชุม BoE, ถ้อยแถลงของสมาชิก Fed และการทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์

บทความวิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

เจซีแอนด์โค” ร่วมมือ “ฮาห์ม พาร์ทเนอร์” เปิดกลยุทธ์เสริมแกร่ง แบรนด์เกาหลีสู่ไทยและตลาด APAC

รู้จัก “One Asia Communications” การรวมตัวจาก บ.พีอาร์กว่า 10 ชาติในเอเชีย เสริมแกร่งงานสื่อสารข้ามประเทศ สร้างการเข้าถึงตลาด APAC ได้อย่างไร้รอยต่อ...

Responsive image

ส.อ.ท. จับมือ ม.มหิดล ลงนามความร่วมมือ ดันเกษตรอัจฉริยะ โครงการ SAI

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการนวัตกรรมต้นแบบ Smart Agriculture Industry (SAI) เพื่อการเรียนรู้และบ่มเพาะแนวทางเกษตรอ...

Responsive image

Grab เปิดตัว GrabExecutive หลังบริการเรียกรถพรีเมียมโต 50% พร้อมดึง VATANIKA ดีไซน์ชุดเครื่องแบบคนขับ

แกร็บเปิดตัว GrabExecutive บริการเรียกรถหรูระดับพรีเมียม โตแรง 50% เจาะตลาดนักธุรกิจ-นักท่องเที่ยวไฮเอนด์ พร้อมบริการสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รถหรู-คนขับมืออาชีพ-ดีไซน์ยูนิฟอร์มโดย VATANIKA...