5 เทรนด์หางานปี 2025 ที่มนุษย์เงินเดือนควรรู้

ปี 2025 โลกของการทำงานเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาท แต่พฤติกรรมของคนทำงานและแนวโน้มของบริษัทก็เปลี่ยนไปด้วย การสมัครงานไม่ใช่แค่การส่งเรซูเม่แล้วรอเรียกสัมภาษณ์อีกต่อไป เพราะ AI เข้ามาช่วยคัดกรองผู้สมัคร งานประจำไม่ได้เป็นตัวเลือกเดียวอีกแล้ว เพราะงานฟรีแลนซ์และสัญญาจ้างกำลังเติบโต ขณะที่รูปแบบการทำงานก็ปรับไปสู่ "ไฮบริด" มากขึ้น หากคุณกำลังหางาน หรือคิดจะเปลี่ยนเส้นทางอาชีพในปีหน้า การเข้าใจเทรนด์เหล่านี้จะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมได้ดีกว่าเดิม

1. งาน "ไฮบริด" กำลังครองตลาด

งานรีโมทที่เคยได้รับความนิยมสูงช่วงโควิด กำลังถูกเบียดด้วยงานแบบไฮบริด หลายบริษัทเริ่มให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ แม้ว่า 63% ของคนทำงานจะยอมลดเงินเดือนเพื่อทำงานจากที่บ้านต่อ

แต่ทำไมงานไฮบริดถึงมาแรง?

  • งานแบบนี้ให้อิสระมากขึ้น ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน แต่ก็ยังได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
  • 96% ของคนทำงานบอกว่างานไฮบริดหรือรีโมทช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น เพราะลดความเครียดจากการเดินทาง และมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น
  • บริษัทเองก็ใช้ไฮบริดเป็นข้อได้เปรียบในการดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ

ถ้าหางานอยู่: ถามรายละเอียดให้ชัดว่างานไฮบริดที่บริษัทมีกี่วัน เข้าออฟฟิศกี่วัน เพราะแต่ละที่ให้ไม่เท่ากัน บางที่ให้เลือกเอง บางที่กำหนดวันตายตัว

2. งานฟรีแลนซ์-สัญญาจ้าง กำลังบูม

หลายคนหันมาทำงานฟรีแลนซ์หรืองานสัญญาแทนงานประจำ เพราะต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น

ทำไมมันถึงมาแรง?

  • ขาดแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทาง เช่น การตลาดดิจิทัล วิศวกรรมซอฟต์แวร์ UX/UI Design
  • ธุรกิจเองก็ชอบ เพราะจ้างคนเก่ง ๆ มาทำงานเฉพาะทางได้ โดยไม่ต้องมีภาระผูกพันแบบพนักงานประจำ
  • แพลตฟอร์มทำงานต่างๆ ทำให้การรับงานอิสระเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

ถ้าอยากเริ่มงานฟรีแลนซ์

  • ลองรับโปรเจกต์สั้น ๆ ก่อน เพื่อสร้างพอร์ต
  • ฝึกทักษะที่ตลาดต้องการ เช่น การตลาดออนไลน์ โปรแกรมมิ่ง UX/UI
  • โชว์ผลงานบน LinkedIn หรือ TikTok ให้คนเห็นว่าคุณมีความสามารถจริง ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบดูตัวอย่างผลงานก่อนตัดสินใจจ้าง

3. การสัมภาษณ์ไวขึ้น ใช้ AI มากขึ้น

กระบวนการสัมภาษณ์งานที่ยาวและหลายรอบกำลังจะลดลง เพราะ AI ถูกนำมาใช้ในงาน HR มากขึ้น

  • บริษัทกว่า 25% ใช้ AI ช่วยคัดกรองใบสมัคร และวิเคราะห์ว่าผู้สมัครคนไหนเหมาะสม
  • AI สแกนหาคีย์เวิร์ดในเรซูเม่และโปรไฟล์ ถ้าคุณไม่อัปเดต อาจถูกมองข้ามไปเลย
  • บางบริษัทใช้ AI ในการสัมภาษณ์เบื้องต้นผ่านแชทบอท หรือให้ทำแบบทดสอบออนไลน์

เคล็ดลับ

  • อัปเดตเรซูเม่และ LinkedIn ให้มีคีย์เวิร์ดที่เป็นที่ต้องการ เช่น ชื่อทักษะ หรือซอฟต์แวร์ที่คุณใช้
  • อย่าหวังพึ่ง AI อย่างเดียว สมัครงานเองและสร้างเครือข่าย เช่น คอมเมนต์บนโพสต์ใน LinkedIn หรือเข้าร่วมกลุ่มอาชีพ

4. เปิดเผยเงินเดือนและความต้องการมากขึ้น

ลองนึกภาพว่าคุณเลือกของเต็มตะกร้าแต่ไม่รู้ราคาจนถึงตอนจ่ายเงิน น่าหงุดหงิดใช่ไหม? การหางานก็เหมือนกัน

  • กว่า 50% ของการประกาศงานเริ่มเปิดเผยเงินเดือนแล้ว
  • บางบริษัทเปิดให้ผู้สมัครเสนอเงินเดือนที่ต้องการ แล้วเจรจากันตรง ๆ
  • ความโปร่งใสเรื่องเงินเดือนช่วยให้ทั้งบริษัทและผู้สมัครประหยัดเวลา เพราะรู้แต่แรกว่าตรงกันไหม

เคล็ดลับ

  • อย่ากลัวที่จะถามเงินเดือนและสวัสดิการตั้งแต่แรก
  • ถามให้ชัดว่ามีโบนัส ค่าคอมมิชชั่น หรือสวัสดิการอะไรเสริมบ้าง

5. ใช้ AI ช่วยได้ แต่ต้องใช้อย่างระวัง

AI เขียนเรซูเม่ได้ดี แต่ถ้าใช้มากไปจนขาดความเป็นตัวเองก็อาจเป็นปัญหาตามมาได้

  • 53% ของ HR ไม่ชอบเรซูเม่ที่ดูใช้ AI มากเกินไป
  • 20% ของ HR ถึงกับปฏิเสธเรซูเม่ที่ดูเหมือนใช้ AI เขียน เพราะมันขาด "ความเป็นตัวตนของผู้สมัคร"

สิ่งที่บริษัทต้องการคือ เห็นตัวตน ความตั้งใจ และเรื่องราวของคุณจริง ๆ การพึ่ง AI มากเกินไป ทำให้ดูเหมือนว่าคุณไม่ได้คิดอะไรมาเองเลย

วิธีที่ถูกต้อง

  • เริ่มร่างเรซูเม่เอง ใส่ประสบการณ์และจุดแข็งของคุณเองก่อน
  • ใช้ AI แค่ช่วยปรับให้ดีขึ้น แต่อย่าให้มันเขียนแทนทั้งหมด

อ้างอิง: forbes

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Bill Gates เผย 3 อาชีพที่ AI ยังแทนที่ไม่ได้

Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft ได้ออกมาให้ความเห็นว่า AI จะเข้ามาแทนที่งานหลายอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ยังเป็นคนกำหนดว่าต้องการให้ AI ทำอะไร และงานไหนควรให้มนุษย์ทำ จาก...

Responsive image

ศิลปะการสื่อสารในวันวิกฤติ ผู้นำควรใช้ถ้อยคำแบบไหน ?

เมื่อวิกฤตมาเยือน คำพูดของผู้นำไม่ใช่แค่การสื่อสาร แต่คือพลังเยียวยา สำรวจศิลปะการสื่อสารของ Brian Chesky ที่เปลี่ยนการเลย์ออฟให้เป็นบทเรียนเรื่องความเป็นมนุษย์และความกล้าหาญในวันท...

Responsive image

เปิดคู่มือหลังเผชิญภัยพิบัติ ผู้นำควรดูแลทีมอย่างไร? เทคนิคจาก UN ที่ใช้ได้จริง

เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ ผู้นำทีมจะต้องรับบทหนักในการขับเคลื่อนให้ทีมสามารถดำเนินงานต่อไป และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคนในทีมให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้ การจัดการในสถานการณ์เช่นนี้นอกจา...