สำรวจชี้คนรวย 1% ก่อมลพิษเท่าคนจน 5 พันล้านคน แต่คนจนรับผลกระทบจากโลกร้อนทั้งหมด

แม้ประโยคที่ว่า “ทุกคนในโลกมีส่วนทำให้โลกร้อน” จะเป็นความจริง แต่รู้ไหมว่า กลุ่มคนรวยที่สุดในโลกซึ่งคิดเป็น 1% ของประชากรทั้งหมด ก่อมลพิษเท่ากับคนจน 5 พันล้านคน

วันนี้ Techsauce จะพาไปสำรวจปัญหา Climate Crisis จากความเหลื่อมล้ำผ่านผลสำรวจจาก Oxfam กัน

โลกร้อนเพราะกลุ่มคนรวย ?

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 พ.ย. 66) Oxfam ได้เปิดเผยรายงานที่น่าตกใจว่า กลุ่มคนรวยเพียง 1% หรือราว ๆ 77 ล้านคนทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนเทียบเท่ากับคนจน 66% หรือ 5 พันล้านคน! และกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันดุเดือดในแวดวงนักสิ่งแวดล้อม

จากรายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ‘Polluter Elite’ หรือผู้ปล่อยมลพิษชนชั้นสูงเหล่านี้กำลังเป็นตัวถ่วงในการแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลกอยู่ รวมถึงประเด็น Climate Justice หรือผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่เท่าเทียมกันทั่วโลก 

เรื่องนี้ยังกลายเป็นวาระสำคัญในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของ UN Cop28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้การศึกษาครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

สำหรับประเด็น Climate Justice จากการศึกษาพบว่า คนรวยปล่อยมลพิษสูงถึง 5.9 พันล้านตันในปี 2019 ซึ่งการสร้างมลพิษขนาดนี้สามารถคร่าชีวิตผู้คนถึง 1.3 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้าได้ และแม้ว่าคนรวยกลุ่มเล็ก ๆ จะปล่อยมลพิษออกสู่อากาศมากแค่ไหน 

พวกเขาก็มีเงินที่จะซื้อชีวิตที่สุขสบาย หนีจากภัยพิบัติ หรือแม้แต่ซื้อ ‘อากาศบริสุทธิ์’ ไว้หายใจ แต่ผู้รับผลกระทบจากการกระทำของพวกเขาก็คือประชากรโลกทั่วไปที่ไม่มีเงินซื้อ ‘ชีวิตที่ปลอดภัย’ ให้ตนเองได้เลย

คนรวยสบาย คนจนรับเคราะห์

องค์การสหประชาชาติรายงานว่า 91% ของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงคนที่มีฐานะยากจน ชุมชนชาติพันธุ์ชายขอบ หรือผู้อพยพ ที่พวกเขาอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำเหล่านั้น แต่ต้องรับผลของมันไปแทนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Oxfam ชี้ว่า คนรวยเหล่านี้กำลังทำร้ายโลกอย่างรุนแรง และกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดคือกลุ่มที่ทุกข์ทรมานมากที่สุด ไลฟ์สไตล์ฟุ่มเฟือยของพวกเขา รวมถึงเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวและคฤหาสน์หลังใหญ่ ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่าปริมาณที่จำเป็นถึง 77 เท่า

เมื่อปี 2022 ก็มีรายงานออกมาว่าปริมาณการใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว (Private Jet) ทั่วยุโรป พุ่งสูงขึ้นถึง 64% และ Amitabh Behar ผู้อำนวยการบริหารของ Oxfam เผยว่า เราควรมีการเก็บภาษี 60% จากรายได้ของคนรวยเหล่านี้ เพราะมันสามารถสร้างรายได้มากถึง 6.4 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 695 ล้านตัน

“การไม่เก็บภาษีคนรวยเหล่านี้ ก็เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถแย่งทรัพยากรไปจากผู้อื่น ทำร้ายโลก และขัดต่อหลักการของประชาธิปไตย” - Amitabh Behar ผู้อำนวยการบริหารของ Oxfam กล่าว

อย่างน้อยที่สุด สิทธิที่จะได้หายใจในอากาศบริสุทธิ์ก็ไม่ควรถูกจำกัดไว้ให้กับอภิสิทธิชนหรือคนใดคนหนึ่ง

อ้างอิง: cnbc , theguardian

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

Muhammad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2006 กล่าวอะไรบ้างบนเวที BIMSTEC Young Gen Forum

Pro.Muhammad Yunus เดินทางมาร่วมงาน BIMSTEC Young Gen Forum: Where the Future Meets กิจกรรมคู่ขนานของการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ สาระสำคัญมีอะไรบ้างน...

Responsive image

"Fungal Battery" แบตเตอรี่ชีวภาพจากเชื้อรา พิมพ์ 3D ได้ ผลิตไฟฟ้าเองได้ ย่อยสลายได้จริง

แบตเตอรี่ชีวภาพจากเชื้อรา นวัตกรรมใหม่จากสวิตเซอร์แลนด์ ใช้เทคโนโลยี 3D Printing ผสมเชื้อราสร้างแบตเตอรี่ที่ผลิตไฟฟ้าได้จริง ย่อยสลายตัวเองได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมพลิกวงการ...

Responsive image

พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกโตแรง จีนนำทัพติดตั้งสูงสุด

ปีที่แล้วการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกทำสถิติสูงสุด คิดเป็น 92.5% ของไฟฟ้าใหม่ทั้งหมดที่ถูกเพิ่มเข้าระบบ โดยมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และแหล่งพลังงานสะอาดอื่น ๆ ตามรายงานของหน่...