talentsauce logo
ฝากประวัติ ค้นหา Tech Talent Talent Insights Job Hack Life Hacks News Video Podcast

เจาะลึกเส้นทางสาย NGO กับ คุณปุณยนุช พัธโนทัย ซีอีโอ Generation Thailand ผู้ละทิ้งความฝันการเป็นนักการทูตสู่การตั้งเป้าหมายใหม่ในชีวิต

By Siramol Jiraporn พฤศจิกายน 22, 2021
share facebook icon share facebook icon hover share x icon share x icon hover share line icon share line icon hover share icon share icon hover

หลายคนมีเป้าหมายการทำงานหลังเรียนจบที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการสอบเข้าราชการเพื่อสวัสดิการที่ดี การทำงานเอกชน หรือการก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง เพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จของตัวเองในอนาคต แต่ คุณปุณยนุช พัธโนทัย ผู้ดำรงตำแหน่งซีอีโอ Generation Thailand กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเธอมีเป้าหมายคือ ต้องการทำความเข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างและอยากทำงานแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อผู้คนในประเทศ 

บทความวันนี้จะพาไปดูเส้นทางชีวิตของคุณปุณยนุช ตั้งแต่เรียนจบจนถึงปัจจุบัน กว่าจะมีทุกวันนี้ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง

Generation Thailand

เส้นทางการเรียนสู่อาชีพในฝัน

ย้อนกลับไปสมัยเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ อย่างที่หลายๆ คนทราบว่าศิลปศาสตร์เป็นศาสตร์ที่กว้างมาก ตอนนั้นมีการเรียนเกี่ยวกับสงคราม ประวัติศาสตร์ และประเด็นทางสังคม ประกอบการได้ทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคม ทำให้เราอยากทำความเข้าใจมากขึ้นว่าปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่กำลังค้นหาตัวเอง

หลังจากเรียนจบพยายามสอบเป็นนักการทูตสองครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ด้วยความที่คิดว่าตัวเองอาจจะยังมีความรู้ไม่มากพอ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ Waseda University การละทิ้งความฝันการเป็นนักการทูตเป็นสิ่งที่เจ็บปวดมากในตอนนั้น เพราะสอบสองครั้งไม่ติดทำให้คิดว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง จึงกลับมาคิดว่า แล้วมีเส้นทางไหนที่ไปต่อได้และตัวเองยังมีความสุขที่ได้ทำอยู่ก็ตัดสินใจไปเส้นทางนั้น ซึ่งเส้นทางนั้นก็คือ การทำงานเพื่อสังคม 

ทำให้ต่อมาเรายังคงเดินตามเส้นทางที่ตัวเองตั้งไว้ โดยการเข้าไปเรียน Marketing ที่ University of California, Los Angeles เพราะอยากเรียนรู้เพิ่มเติมและเห็นว่าตลาดงานของไทยโดยเฉพาะฝั่ง NGO คนที่มีความรู้เรื่อง Social Marketing มีจำนวนน้อย และการเรียนทางด้านนี้เป็นสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้และจะเป็นประโยชน์ตอนกลับประเทศไทย

แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานในสาย NGO และการศึกษา  

แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดในการเข้ามาทำงานสาย NGO คือ คุณแม่ เพราะคุณแม่ทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทลายกรอบความคิดเดิมๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ โดยเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นเป็นผู้จัดการ ซึ่งสมัยก่อน 90% เป็นผู้ชาย เราจึงได้เรียนรู้การต่อสู้ในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และซึมซับการต่อสู้เชิงระบบมาใช้กับการทำงานในสาย NGO 

นอกจากนี้ เรายังคิดว่าการแก้ปัญหาอะไรสักอย่างไม่ควรแก้ที่ปลายเหตุ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นวิธีที่ดีที่สุด แล้วรู้สึกว่าเด็กเป็นกลุ่มแรกที่ควรเข้าไปช่วยแก้ปัญหา และการศึกษาเป็นส่วนหลักที่ทำให้หลายๆ ปัญหาเกิดขึ้นในสังคม การที่เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษาเพราะความเหลื่อมล้ำในสังคมจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเข้ามาทำงานด้านการศึกษา

สิ่งที่ทำให้ทำงานที่รักได้จนถึงทุกวันนี้

หลายคนชอบถามเราว่า “การลงไปช่วยเหลือคนมันหนัก ทนมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร” แต่เราคิดว่า การอยู่ในสายงานนี้ทำให้นำตัวเองไปเจอกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันหรือเป็นกลุ่มคนที่มีความใกล้เคียงกัน ทำให้เจอแต่คนที่มีพลังงานบวกเข้ามา แล้วพลังของคนที่ลงมาทำในสายงานนี้สามารถสัมผัสได้จากทุกคน เวลามองเห็นหัวหน้าหรือคนที่เข้ามาลุยในด้านสังคมก็ทำให้มีความสุข และพยายามที่จะเรียนรู้จากทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้

ประสบการณ์ช่วยเหลือสังคมที่เปลี่ยนมุมมองความคิด

ช่วงที่ไปเรียนปริญญาโท ได้มีโอกาสทำโปรเจกต์เกี่ยวกับนักมวยเด็กในประเทศไทย ตอนนั้นเราปักธงในใจตอนเรียนว่า การให้เด็กมาเป็นนักมวยมันผิด เพราะเป็นการหาประโยชน์จากเด็ก แต่เมื่อลงพื้นที่ไปตามค่ายมวยหลายๆ จังหวัด แล้วต้องเอาตัวเองไปอยู่กับค่ายมวย ทำให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งว่า เราไม่ควรปักธงว่าใครผิดหรือใครถูก เพราะเมื่อลงไปอยู่กับเด็กกลุ่มนี้แล้ว ทำให้เห็นว่า พวกเขาไม่มีทุนทรัพย์ และพ่อแม่ไม่ได้ขายลูกกิน แต่เป็นเพราะพ่อแม่ไม่มีเงินส่งลูกเรียน ค่ายมวยจึงเป็นเหมือนโรงเรียนประจำของเด็กเหล่านี้ที่ทำให้เด็กมีทั้งที่อยู่และสามารถเรียนการต่อยมวยได้ แต่ถ้ามองในเชิงทฤษฎีมันก็คือการหาประโยชน์จากเด็กเต็มๆ 

เรามองว่าการให้เด็กมาต่อยมวย ในแง่มุมหนึ่ง ก็เห็นว่ามันอันตรายกับเขาจริงในเรื่องสมองหรือพัฒนาการ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ทำให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือแอลกอฮอล์ใดๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เปลี่ยนมุมมองของการแก้ปัญหาทางสังคมไป โดยการมองว่าจะแก้ปัญหาอะไรในสังคมด้วยการมองมุมเดียวไม่ได้ และต้องมองให้กว้างขึ้นว่ามันมีปัจจัยอะไรในการแก้ปัญหาทางสังคมบ้าง

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้ก้าวเข้าสู่การทำงานกับ Generation

ก่อนหน้าที่เราจะเข้าสู่องค์กรอย่าง Generation ก็เคยทำงานที่ Right to play มาก่อน ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่า ทำงานกับทุกกลุ่มเป้าหมายขององค์กรครบแล้ว แต่คิดว่าสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหน ถ้าปากท้องของคนเหล่านั้นยังไม่อิ่ม จะสามารถนำการเล่นหรือการเรียนไปให้กับคนกลุ่มนั้นก็เป็นเรื่องยาก ทำให้คิดว่าจะแก้ไขปัญหาเชิงระบบนี้ได้อย่างไร ก็เลยกลับมาที่เรื่องการเข้าถึงงาน อาจเป็นปัจจัยหลักที่ปลดล็อกทุกกลุ่มของปัญหาที่เกิดขึ้น 

Generation Thailand

เมื่อ Generation เข้ามา พอดีกับตอนที่คิดว่าตอนนี้ตัวเองแก้ปัญหาถูกจุดไหม Generation ก็เลยตอบโจทย์ เพราะเรามองว่าการแก้ปัญหาของ Generation ไม่เหมือนที่อื่น อย่างในประเทศไทยองค์กรด้าน Training หรือ Recruitment  มีค่อนข้างเยอะ แต่ Generation มีจุดยืนคือเป็น Employment Organization 

Generation เป็นองค์กรที่เข้ามาแก้ไขปัญหาการที่คนเข้าไม่ถึงงาน โดยการฝึกอาชีพให้ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน ซึ่งการที่จะเข้าถึงงานได้ต้องเริ่มจากฝั่งนายจ้างก่อน คือลงไปพูดคุยกับนายจ้างก่อนว่าอย่างอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยี ตำแหน่งที่ขาดและหาไม่ได้มีอะไรบ้าง แล้ว Generation ก็ไปพัฒนาหลักสูตรร่วมกับนายจ้างว่า ถ้าจะเป็นอาชีพนี้ต้องมีความรู้อะไรบ้าง เมื่อพัฒนาหลักสูตรกับนายจ้างแล้ว ก็กลับมาดูกลุ่มคนที่เข้ามาเรียน ดูแลจนครบกระบวนการจนมีงานทำ ทำให้เด็กที่ไม่ว่าจะจบอะไรมาก็เข้ามาทำงานได้ เพราะทาง Generation สร้าง Boot camp หลักสูตรอย่างเข้มข้น

ปัจจุบันทาง Generation โฟกัสอุตสาหกรรมทางด้าน Tech และปีหน้าจะเริ่มไปทาง Healthcare เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับแรงงานที่จะมาดูแลผู้สูงอายุยังไม่เพียงพอ โดยสาย Tech ทาง Generation หาเด็กสองกลุ่ม กลุ่มแรก เป็นเด็กมหาวิทยาลัยจบใหม่ เพราะเงินสนับสนุนมาจากกระทรวงอุดมศึกษา และกลุ่มที่สอง ใช้วิธีการติดต่อผ่านองค์กรทางสังคมต่างๆ เช่น SCG foundation หรือ NGO ทั่วไป เพื่อขยายโอกาสให้กับเด็กที่ต้องการจริงๆ โดยส่วนมากจะเป็นเด็กปวช. และ ปวส.

แอบกระซิบว่า เดือนตุลาคมที่ผ่านมาทาง Generation ได้เปิดรับสมัครให้น้องๆ ได้เข้าไปเรียนในตำแหน่ง Junior Software Developer เป็นตำแหน่งแรก หากใครที่มีความสนใจเส้นทางอาชีพในสาย Tech แต่ไม่มีทุนทรัพย์ในการเรียน การเริ่มต้นสายงานนี้ที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะทาง Generation มีบริษัท Partner ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และการันตีว่าคนที่มาอยู่ด้วยจะได้งาน 80% โดยระยะเวลาในการเข้าร่วมโปรแกรมประมาณ 3 เดือน เป็นหลักสูตรที่มีความเข้มข้นแบ่งเป็น Tech และ Soft Skill ต่างๆ ซึ่งพัฒนาผ่านนายจ้างตามตำแหน่งนั้นๆ โดยตรง สามารถติดตามหลักสูตรรุ่นต่อไปได้ผ่านทางเพจ Generation Thailand

เมื่อความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว

เราไม่รู้ว่าคำนิยามของความสำเร็จคืออะไร แต่รู้ว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร และรู้สึกโชคดีที่ตัวเองสามารถค้นหาสิ่งที่ชอบได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงทุกครั้งที่ล้มก็จะลุกเร็ว แล้วลุยต่อไปเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าความสำเร็จไม่ตายตัว และเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอด เพราะฉะนั้นอย่ายึดติดกับความสำเร็จ 

สิ่งที่ควรคิดถึงคือ เรายังอยู่ในทางเดินที่ตั้งไว้ว่าเราทำสิ่งนี้แล้วเรามีความสุข เราชอบมีโจทย์ปัญหาในชีวิตว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้อย่างไร และตราบใดที่ยังแก้ไม่หมดซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดไป ก็จะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ขอแก้ปัญหาต่อไปในทุกๆ วันก็พอ

อย่าไปนิยามความสำเร็จ เพราะมันจะทำให้หนักเปล่าๆ สิ่งที่อยากให้โฟกัสคือเป้าหมายที่เราจะทำและเส้นทางที่เราจะเดิน ทำสิ่งเหล่านี้ให้ชัด แล้วความสำเร็จจะมาหาเราเอง


No comment
คัดลอก URL ×

https://techsauce.co./talentsauce/talent-insights/generation-thailand