Noland Arbaugh มนุษย์คนแรกที่ควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยความคิดผ่าน Neuralink

หากใครติดตามข่าวเทคโนโลยีในช่วงปีที่ผ่านมา น่าจะคุ้นชื่อ Neuralink บริษัทสตาร์ทอัพสายประสาทวิทยาที่ก่อตั้งโดย Elon Musk ซึ่งเพิ่งสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการฝังชิป “Telepathy” ลงในสมองของมนุษย์เป็นครั้งแรก เป้าหมายคือช่วยให้ผู้ที่เป็นอัมพาตสามารถควบคุมอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ด้วยความคิด

และถ้า Neuralink คือเรื่องราวของอนาคตที่กำลังจะกลายเป็นจริง Noland Arbaugh ก็คือมนุษย์คนแรกที่ได้ใช้มันจริง ๆ

Noland Arbaugh: จากการดำน้ำสู่การควบคุมเมาส์ด้วย Neuralink

Noland วัย 30 จากรัฐแอริโซนา ไม่ได้มีโปรไฟล์เหมือนนักพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุค ไม่ได้เป็นวิศวกร ไม่ได้เป็นมหาเศรษฐีสายเทค แค่เป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่หลงรักการเล่นเกม ใช้ชีวิตแบบคนทั่ว ๆ ไป จนกระทั่งในปี 2016 เขาประสบอุบัติเหตุระหว่างดำน้ำ จนทำให้เขาสูญเสียความสามารถในการควบคุมแขนขาไป และต้องใช้ชีวิตนั่งรถเข็นตั้งแต่นั้นมา

จากคนที่เคยขยับตัวไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ต้องกลายมาเป็นคนที่แม้แต่จะหยิบเมาส์ขึ้นมาเล่น Civilization VI ยังทำไม่ได้ ชีวิตของเขาเหมือนถูกตัดขาดจากโลกเดิมไปเกือบทั้งหมด

แต่แล้วในเดือนมกราคม 2024 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

หลังจากเข้าร่วมโครงการทดลองของ Neuralink บริษัทสตาร์ทอัพด้านประสาทเทคโนโลยีที่ใคร ๆ ก็รู้ว่าก่อตั้งโดย Elon Musk เขาก็กลายเป็น มนุษย์คนแรกที่ได้รับการฝังชิปสมองที่ชื่อว่า “Telepathy” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี Brain-Computer Interface (BCI) ที่เชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์โดยตรง

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ Noland คิด แล้วคอมพิวเตอร์ก็ขยับให้เองได้เลยทันที

Neuralink ชิปในหัวที่ทำให้เขาเล่นเกมได้ (เก่งกว่าเดิมด้วย)

ไม่นานหลังการผ่าตัด ชิปเริ่มทำงาน และ Noland ก็ได้ค้นพบความสามารถใหม่แบบไม่ทันตั้งตัว เขาสามารถเล่นเกมด้วยความคิด และยังเร็วกว่าเมื่อก่อนด้วย

ในพอดแคสต์ของ Joe Rogan ด้าน Noland ก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนี้ว่า “รู้สึกเหมือนมี Aimbot อยู่ในหัว” เพราะการเล็งเป้าในเกมของเขาแม่นยำราวกับมีระบบล็อกอัตโนมัติ นั่นหมายความว่าในทุกๆ เกมที่เขาเล่น เขามีโอกาสชนะเกินครึ่งไปแล้ว

บางครั้งเคอร์เซอร์มันขยับไปก่อนที่ผมจะรู้ตัวซะอีกว่าผมอยากขยับ มันเร็วมาก รู้สึกเหมือนการสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งเดียวกัน

- Noland Arbaugh มนุษย์คนแรกที่ฝังชิปลงสมอง

Noland ชี้ว่าชิปทำให้เขามีปฏิกิริยาตอบสนองที่เหนือมนุษย์ เพราะโดยปกติแล้ว หากคนเราต้องการขยับมือ สัญญาณที่บ่งบอกความต้องการจะต้องถูกส่งจากสมอง ก่อนที่มือของคุณจะขยับจริงๆ แต่การมีชิปมันเหมือนกับว่าสัญญาณถูกส่งไปอย่างรวดเร็วและการกระทำเกิดขึ้นทันทีก่อนที่เขาจะรู้ตัว

แม้ว่าตอนนี้ Neuralink ยังไม่สามารถใช้เพื่อเล่นเกมที่มีความเร็วสูงอย่าง Call of Duty ได้ แต่ Noland กล่าวว่า “ผมสามารถเล่นเกมกับเกมอื่นๆ อย่าง Civilization VI และ Mario Kart ได้ และผมเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นมากพอที่จะเล่นเกมใดๆ ก็ได้ รวมถึงเกมในฝันของผมอย่าง Halo ด้วย”

นวัตกรรมล้ำยุค แต่มากับความเสี่ยง

แม้เทคโนโลยีการฝังชิปในสมองจะฟังดูเหมือนก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ แต่ในความล้ำสมัยนั้นก็แฝงไปด้วยความเสี่ยงที่ยังต้องจับตา

วันหนึ่ง Noland เล่าให้ฟังว่า เขาอยู่ดี ๆ ก็ไม่สามารถควบคุมเคอร์เซอร์บนหน้าจอได้เหมือนเคย การสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์หยุดลงแบบไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า หลังจากทีมวิศวกรของ Neuralink ตรวจสอบ ก็พบว่าสาเหตุอาจมาจากเส้นลวดขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับสมองเกิดการหดตัว ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับอากาศที่ยังตกค้างอยู่ในกะโหลกศีรษะจากการผ่าตัด ช่วงเวลานั้น Noland ยอมรับว่าเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะกลับมาใช้งานได้อีกหรือไม่

แต่สุดท้ายทีมวิศวกรก็สามารถแก้ไขซอฟต์แวร์ ปรับจูนระบบให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม และยังได้บทเรียนสำคัญที่อาจช่วยพัฒนาการฝังชิปให้ลึกและเสถียรมากขึ้นในอนาคต

นอกจากปัญหาทางเทคนิคแล้ว อีกสิ่งที่ Noland ตั้งคำถามไว้คือ ความเสี่ยงเรื่อง “การโดนแฮ็ก” แม้ในตอนนี้ ผลกระทบอาจแค่ทำให้เคอร์เซอร์ขยับผิดทิศทาง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กเลยหากคิดไปถึงภาพใหญ่ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากอุปกรณ์ที่ฝังอยู่ในสมองของคนเราถูกควบคุมจากภายนอก

และสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นก็คือเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะการมีชิปในสมองก็เหมือนกับการเปิดประตูให้คนอื่นเข้าถึงพื้นที่ลึกที่สุดของตัวเรา

ไม่ใช่แค่ Noland ไม่ใช่แค่ Neuralink

แม้ชื่อของ Neuralink จะถูกพูดถึงมากที่สุดในแวดวงเทคโนโลยีสมองมนุษย์ แต่ในสนามนี้ยังมีอีกหลายผู้เล่นที่กำลังวิ่งไล่กันอย่างสูสี หนึ่งในนั้นคือ Synchron บริษัทที่เลือกวิธีฝังอุปกรณ์เข้าร่างกายแบบไม่ต้องผ่าตัดสมองโดยตรง แต่ใช้เทคนิคผ่านหลอดเลือดแทน

การรวมกันของมนุษย์กับเครื่องจักรอาจไม่ใช่แค่แนวคิดในนิยายไซไฟอีกต่อไป แต่มันค่อย ๆ ปรากฏขึ้นจริงทีละนิด และ Noland Arbaugh เป็นเพียงบทแรกของเรื่องราวนี้ เขาเข้าร่วมโครงการของ Neuralink ภายใต้ข้อตกลง 6 ปี ซึ่งหลังจากนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเส้นทางต่อไปจะเป็นอย่างไร

อ้างอิง: futurism, bbc

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

คอมตัมคอมพิวติ้ง ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว ? สรุปความก้าวหน้าควอนตัมจากงาน NVIDIA GTC 2025

งาน NVIDIA GTC 2025 เป็นปีแรกที่มีการจัดเวทีพูดคุยเกี่ยวกับควอนตัมคอมพิวติ้งโดยเฉพาะ (Quantum Day) ซึ่ง NVIDIA ในฐานะเจ้าภาพ และผู้ขับเคลื่อนการประมวลผลแบบ Accelerated Computing จึ...

Responsive image

ญี่ปุ่น ใช้ AI และเทคโนโลยีอะไร ในการรับมือแผ่นดินไหว ?

เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย สร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงด้านแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้นในประเทศ แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง แต่เหตุการณ์ดังกล...

Responsive image

AI วาดสไตล์ Ghibli : OpenAI แอบดึงข้อมูลมาเทรนด์หรือเปล่า ประเด็นที่โลกไม่ควรมองข้าม

ฟีเจอร์ใหม่จาก ChatGPT ที่สร้างภาพสไตล์ Ghibli ทำเอาโลกอินเทอร์เน็ตสะเทือน แต่คำถามใหญ่คือ...นี่คือวิวัฒนาการของเทคโนโลยี หรือการทำลายจิตวิญญาณของศิลปะที่ Ghibli ยึดถือมาทั้งชีวิต ...