ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน Techsauce จัดงาน HEALTH TECH MEETUP ซึ่งเป็นเวทีสำคัญที่รวบรวมบุคลากรในแวดวง HealthTech ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้สนใจทั่วไป เพื่อร่วมอัพเดทความรู้ แลกเปลี่ยนมุมมอง และสร้างเครือข่าย ภายใต้หัวข้อ “The Future of Healthcare” บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความตื่นตัว สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีต่อการพัฒนาวงการสุขภาพในปัจจุบัน
ภาพบรรยากาศภายในงาน Techsauce Health Tech Meetup
ภายในงาน มีการแบ่งการเสวนาออกเป็น 3 ช่วงหลัก ได้แก่ Fireside Chat, Panel Discussion และ Networking Night โดยมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายและ Connection ในวงการ HealthTech
นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร (ซ้าย) และคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ (ขวา) ร่วมกันจุดประกายความคิดในหัวข้อ “Transforming Access through Technology”
การเสวนาในช่วงแรกของงาน HEALTH TECH MEETUP จัดขึ้นในรูปแบบ Fireside Chat ภายใต้หัวข้อ “Transforming Access through Technology” โดยมีคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ซีอีโอ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด เป็นผู้ดำเนินรายการ และได้รับเกียรติจาก นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาด้านสาธารณสุขที่สังคมกำลังเผชิญอยู่
นพ.ชัยรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล นพ.ชัยรัตน์ เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหานี้ โดยยกตัวอย่าง Telemedicine และ Telecare ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดความจำเป็นในการเดินทาง และด้วยต้นทุนที่ต่ำลง จึงสามารถลดภาระของระบบสาธารณสุขโดยรวมได้
นอกจากนี้ นพ.ชัยรัตน์ ยังได้อธิบายถึงแนวคิด “ลด Demand เพิ่ม Supply” เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันประชาชนมักนิยมเข้ารับบริการในระบบสาธารณสุขแม้มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่าและอาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเร่งด่วน การ “ลด demand” หมายถึงการลดความต้องการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยตนเอง (Self-care) และการป้องกันโรค (Preventive care) ผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable devices) ส่วนการ “เพิ่ม Supply” หมายถึงการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการของสถานพยาบาลระดับต้น เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อกับผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลระดับสูง เพื่อให้คำปรึกษา วินิจฉัย และรักษาโรคเบื้องต้นได้ โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรจากระบบสาธารณสุขมากเกินความจำเป็น
นพ.ชัยรัตน์ เสนอให้มีการจัดระบบบริการทางการแพทย์ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ (Primary Care) ทุติยภูมิ (Secondary Care) จนถึงตติยภูมิ (Tertiary Care) อย่างเป็นระบบ โดยให้ระดับปฐมภูมิเป็นด่านแรกในการดูแลสุขภาพ คัดกรอง และให้คำปรึกษาเบื้องต้น หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการซับซ้อนขึ้น จึงส่งต่อไปยังระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การจัดระบบเช่นนี้จะช่วยกระจายการบริการ ลดความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล พร้อมทั้งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน
ในตอนท้ายของการสนทนา นพ.ชัยรัตน์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหามากกว่าการใช้กำลังทรัพย์เพียงอย่างเดียว นพ.ชัยรัตน์ เชื่อมั่นว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จะนำไปสู่การยกระดับระบบสาธารณสุขไทย และสร้าง “HealthTech Community” ที่แข็งแกร่ง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน
ช่วง Panel Discussion: The Collaboration for Better Life (จากซ้าย) นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ, คุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช, ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ และคุณอรไท เลิศสุวรรณกิจ
ต่อมาก็เข้าสู่ช่วงของ Panel Discussion ภายใต้หัวข้อ “The Collaboration for Better Life” เพื่อเจาะลึกถึงความร่วมมือในการพัฒนาวงการ HealthTech และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีคุณอรไท เลิศสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือทางธุรกิจ บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วยผู้ร่วมวงสนทนาจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ คุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ จากบริษัท เฮลท์ แอท โฮม จำกัด ที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชน และ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนจากภาครัฐ
ในการอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน คุณอรไทเปิดประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่งบประมาณมีจำกัด โดย ดร.นพ. วรตม์ มองว่าปัญหาหลักๆ มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไต ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้นทุนด้านสาธารณสุขพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ดร.นพ. วรตม์ เน้นย้ำว่า การดูแลตนเอง (Self-care) เพื่อป้องกันโรคเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งคุณนาเดียก็ได้เสริมว่า โมเดลของระบบสาธารณสุขที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเริ่มไม่มั่นคง เพราะต้องแบกรับต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้นไปอีกอย่างมหาศาล โดยเสนอว่า การแก้ไขปัญหา NCDs ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ควรได้รับความสำคัญมากกว่าการรักษา ทางด้าน นพ.คณพลก็ชี้ว่า สังคมผู้สูงอายุจะทำให้เกิดการขาดผู้ดูแลในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ จะพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม และการสนับสนุนทางสังคม เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาในส่วนนี้
ต่อมา คุณอรไทตั้งคำถามถึงภาพอนาคตของระบบสาธารณสุขไทย หากอัตราการเกิดต่ำแต่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เราจะแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนผู้ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุอย่างไร ซึ่ง นพ.คณพลมองว่าโซลูชันเทคโนโลยีคือทางออก แต่ไม่ใช่แค่การยัดเยียดนวัตกรรมให้ผู้สูงอายุใช้ การออกแบบต้องเริ่มจากความเข้าใจความต้องการของพวกเขาจริงๆ และให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมออกความเห็นตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อให้เทคโนโลยีที่ออกมาตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้จริง ดร.นพ. วรตม์ เสริมว่าเทคโนโลยีภาครัฐอย่างแอปพลิเคชัน หมอพร้อม หรือ Line OA ก็ช่วยอำนวยความสะดวกได้มาก และช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ แต่ในภาพรวม เราต้องมองไกลกว่านั้น คนวัยทำงานในอนาคตจะแบกรับภาระหนักอึ้งเหมือนที่ญี่ปุ่นเจอ เราจึงต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ เน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว ที่สำคัญคือผู้สูงอายุต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนชีวิตบั้นปลายของตัวเอง และถึงแม้จะใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาได้ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการมีผู้ดูแลได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน
อีกหนึ่งประเด็นร้อนในวงการสาธารณสุขก็คือ นโยบาย Co-Payment หรือการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล กลายเป็นประเด็นสำคัญในวงการสาธารณสุข โดยคุณนาเดียได้อธิบายรายละเอียดของนโยบาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและส่งเสริมความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลสุขภาพ แม้ว่านโยบายนี้จะก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มผู้เอาประกันภัย เนื่องจากอาจมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นมาตรการที่จำเป็นต่อความยั่งยืนของระบบในระยะยาว โดยมีการยกตัวอย่างระบบ Co-Payment ที่ปรับตามรายได้ของผู้เอาประกันในประเทศสิงคโปร์ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการคุ้มครองโรคที่จำเป็น และทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ในช่วงท้ายของการอภิปราย ผู้ร่วมวงสนทนาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน นพ.คณพลเสนอว่าภาครัฐอาจสนับสนุนสตาร์ทอัพ HealthTech เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม แทนการพัฒนาเทคโนโลยีหรือทำโครงการด้วยตนเอง ในขณะที่คุณนาเดียและดร.นพ.วรตม์เห็นพ้องว่า ภาครัฐควรมีบทบาทหลักในการเชื่อมโยงข้อมูล สร้างความร่วมมือ และส่งเสริมระบบนิเวศ HealthTech โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนการร่วมมือแบบ Public-Private Partnership และการมีส่วนร่วมของประชาชน นพ.คณพลยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นของช่องทางการสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างทั้งสองภาคส่วน และคุณนาเดียเสนอให้ภาครัฐสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับข้อมูลสุขภาพระดับชาติ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพระดับชาติและต่อยอดสู่นวัตกรรม ภาครัฐจึงควรสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของ HealthTech ผ่านการกำหนดนโยบาย การลงทุน และการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
คุณอรไท เลิศสุวรรณกิจ, นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ, นพ.ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร, คุณนาเดีย สุทธิกุล, ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ และคุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ
เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง บรรยากาศของงานยังคงเต็มไปด้วยความคึกคัก ผู้เข้าร่วมงานได้ใช้เวลาในช่วง Networking Night ในการพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนจากหลากหลายภาคส่วนในวงการ HealthTech ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการต่อยอดความร่วมมือและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนวงการสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
งาน HEALTH TECH MEETUP “The Future of Healthcare” ครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน โดยประเด็นสำคัญที่ถูกเน้นย้ำตลอดงานคือความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ การส่งเสริมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาระบบนิเวศ HealthTech ของประเทศ
การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจและการยอมรับเทคโนโลยีจากประชาชน รวมถึงการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด