นักวิทย์ฯ ค้นพบ ‘Olo’ สีใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยเห็น ผ่านการทดลองกระตุ้นเซลล์ตาด้วยเลเซอร์

นักวิทย์ฯ ค้นพบ ‘Olo’ สีใหม่ที่มนุษย์ไม่เคยเห็น ผ่านการทดลองกระตุ้นเซลล์ตาด้วยเลเซอร์

หลายคนอาจคิดว่ามนุษย์มองเห็นสีครบทุกเฉดแล้ว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก UC Berkeley และมหาวิทยาลัยวอชิงตันเพิ่งเปิดเผยว่ายังมีสีที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนซ่อนอยู่

การค้นพบสุดล้ำนี้เกิดจากการทดลองที่นักวิจัยยิงเลเซอร์เข้าไปในตาของมนุษย์ เพื่อกระตุ้นเซลล์รับแสงในจอประสาทตาแบบเฉพาะเจาะจง ส่งผลให้สมองของผู้ทดลองรับรู้สีที่ไม่เคยมีอยู่ในธรรมชาติ และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าตามปกติ

สีใหม่นี้มีชื่อว่า “Olo”

นักวิจัยตั้งชื่อสีใหม่นี้ว่า "Olo" เป็นเฉดสีฟ้าอมเขียวที่คนที่ได้เห็นบอกตรงกันว่า “เป็นสีที่สดมาก สดแบบไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน”

Ren Ng ศาสตราจารย์จาก UC Berkeley ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยและร่วมทดลองด้วยตัวเอง บอกว่า “เราคิดไว้แล้วว่าผลลัพธ์มันจะไม่ธรรมดา แต่พอเห็นจริง ๆ คืออึ้ง มันสดจัดจนรู้สึกเหมือนเป็นสีใหม่ของโลกเลย” และเขาได้อธิบายเพิ่มเติมว่าลองนึกภาพว่าคุณเคยเห็นแต่เสื้อชมพูอ่อน ๆ ทั้งชีวิต แล้วอยู่ดี ๆ มีคนเดินมาใส่ชมพูเข้มแบบสุดขั้ว คุณจะรู้สึกทันทีว่า ‘เอ๊ะ…นี่มันสีอะไร ทำไมไม่เหมือนเดิมเลย’ นั่นแหละคือความรู้สึกตอนเห็น Olo

ทำไมมนุษย์ถึงไม่เคยเห็นสีนี้มาก่อน?

การมองเห็นสีของมนุษย์เกิดจากเซลล์รับแสง 3 ประเภทในดวงตา คือ

  • เซลล์ S (ไวต่อแสงสีน้ำเงิน) 
  • เซลล์ M (เขียว) 
  • เซลล์ L (แดง)

โดยปกติทั้งสามเซลล์จะทำงานร่วมกันเพื่อให้สมองแปลผลออกมาเป็นสีต่าง ๆ แต่ในการทดลองนี้ นักวิจัยสามารถควบคุมเลเซอร์ให้ไปกระตุ้นเซลล์ M เพียงอย่างเดียว ด้วยความแม่นยำสูง ทำให้สมองได้รับ "สัญญาณแปลกใหม่" ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสิ่งนั้นก็คือ Olo

สีนี้ไม่สามารถแสดงผลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ได้ เพราะมันอยู่นอกขอบเขตที่อุปกรณ์ทั่วไปจะแสดงได้ ทีมวิจัยบอกว่าเฉดที่ใกล้เคียงที่สุดอาจเป็น "สีเทอร์ควอยส์ที่สดและสว่างมาก" แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับของจริง

สีใหม่ที่เห็น เป็นของจริงหรือสมองหลอกเรา?

แม้ผลลัพธ์จะเป็นที่น่าสนใจ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็แสดงความเห็นต่างว่า สิ่งที่ผู้ทดลองเห็นอาจไม่ใช่ "สีใหม่จริง ๆ" แต่เป็นแค่การตีความของสมองจากสัญญาณประสาทที่ผิดไปจากเดิมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยืนยันว่า การควบคุมการกระตุ้นเซลล์รับแสงอย่างแม่นยำแบบนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถือเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์การมองเห็น

ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่การค้นพบสีใหม่ แต่ยังรวมถึง ศักยภาพในการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางสายตา เช่น คนที่มีภาวะตาบอดสี หรือมองเห็นสีบางชนิดไม่ชัดเจน

เพราะถ้ามนุษย์สามารถควบคุมการมองเห็นได้ระดับเซลล์ เท่ากับว่าเราอาจออกแบบ "การมองเห็น" แบบใหม่ให้กับแต่ละคนได้ในอนาคตก็เป็นได้

อ้างอิง: bbc, cnet

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

กสิกรไทยเผย 5 ธุรกิจใต้ Orbix Group ครบเครื่องนิเวศ Digital Asset ในงาน MONEY20/20 Asia

กสิกรไทย เผยรายละเอียด 5 ธุรกิจในกลุ่มออร์บิกซ์ (Orbix Group) เพื่อรองรับระบบนิเวศสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างรอบด้าน บนเวทีระดับโลก MONEY20/20 Asia...

Responsive image

Tesla ส่อถูกเขี่ยพ้นตลาดจีน ยอดขายร่วง แข่งเดือด BYD – Xiaomi

Tesla กำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนอย่างต่อเนื่อง เมื่อแบรนด์ท้องถิ่นมาแรง พนักงานขายต้องทำงานวันละ 13 ชั่วโมง สะท้อนแรงกดดันจากยอดขายที่ตกต่ำและการแข่งขันดุเดือดในตลาด ...

Responsive image

หุ่นยนต์ล้มกลางมาราธอน เมื่อ Humanoid ต้องวิ่งแข่งกับมนุษย์ในสนามจริง

หุ่นยนต์ Humanoid ล้มกลางมาราธอนในกรุงปักกิ่ง! AI แข่งกับมนุษย์ในสนามจริง พบกับความท้าทายที่หุ่นยนต์ต้องเผชิญ และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงอนาคตของกีฬา...