TSMC เปิดตัวชิปขนาด 2 นาโนเมตร ขนาดเล็กลง แต่ล้ำหน้ากว่าเคย

TSMC สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในวงการชิป ด้วยการเปิดตัวชิปขนาด 2 นาโนเมตรที่เล็กที่สุดและล้ำหน้าที่สุดเท่าที่เคยมีมา ให้พลังการประมวลผลและประสิทธิภาพเหนือชั้นกว่าทุกรุ่นก่อนหน้า ชิปนี้ไม่เพียงแค่พัฒนาประสิทธิภาพให้ดีกว่ารุ่นก่อน ๆ แต่ยังเปิดประตูสู่อนาคตที่เทคโนโลยีจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการประมวลผลและการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในยุคดิจิทัล

ชิป: หัวใจหลักของเทคโนโลยีโลกยุคดิจิทัล

ชิปถือเป็นรากฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่ พบได้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชนิด ตั้งแต่แปรงสีฟันไฟฟ้าและสมาร์ทโฟน ไปจนถึงแล็ปท็อปและเครื่องใช้ในครัวเรือน ชิปผลิตขึ้นโดยใช้กระบวนการวางซ้อนและแกะสลักบนแผ่นซิลิคอน โดยเพื่อสร้างวงจรไฟฟ้าที่ประกอบด้วยทรานซิสเตอร์นับพันล้านตัว

ทรานซิสเตอร์เหล่านี้ทำหน้าที่เหมือนสวิตช์จิ๋ว ที่คอยควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้า ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ ยิ่งชิปมีทรานซิสเตอร์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถทำงานได้เร็วขึ้น ทรงพลังมากขึ้น และประหยัดพลังงานมากขึ้นเท่านั้น อุตสาหกรรมชิปจึงพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะบรรจุทรานซิสเตอร์ให้มากขึ้นในพื้นที่ที่เล็กลง เพื่อสร้างอุปกรณ์เทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทรงพลัง และประหยัดพลังงาน

ความเหนือกว่าของชิป 2 นาโนเมตร

เมื่อเปรียบเทียบกับชิปขนาด 3 นาโนเมตร (3nm) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีก่อนหน้า ชิป 2nm ของ TSMC จะมอบประสิทธิภาพการประมวลผลที่เร็วขึ้น 10-15% ภายใต้การใช้พลังงานระดับเดียวกัน หรือสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ 20-30% ในขณะที่ยังคงความเร็วเดิมไว้ นอกจากนี้ ความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์ก็เพิ่มขึ้นอีกราว 15% ทำให้สามารถทำงานที่ซับซ้อนได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในขนาดที่เล็กลง

ชิปขนาดจิ๋วกับความมั่นคงของไต้หวัน

อุตสาหกรรมไมโครชิปของไต้หวันมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ โดยบางคนเรียกอุตสาหกรรมนี้ว่า “Silicon Shield” เพราะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนทำให้สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรมองว่าควรปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีน

TSMC ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 และเป็นผู้นำด้านการผลิตชิปให้บริษัทอื่น โดยไต้หวันครองตลาดการผลิตชิปแบบรับจ้าง (foundry) ถึง 60% ของโลก 

ชิปขั้นสูงของ TSMC ถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์หลากหลาย เช่น ชิป A-series ของ Apple, หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของ NVidia ที่ใช้ในงานปัญญาประดิษฐ์ ชิป Ryzen และ EPYC ของ AMD ที่ใช้ในซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วโลก และชิป Snapdragon ของ Qualcomm ที่พบในมือถือจาก Samsung, Xiaomi, OnePlus และ Google

ดังน้้นแม้ว่า TSMC จะมีข้อตกลงลงทุนกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงาน 5 แห่งในสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าชิป 2nm จะสามารถผลิตนอกไต้หวันได้หรือไม่ เนื่องจากอาจกระทบต่อความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ของเกาะ

ชิปขนาดจิ๋วและความท้าทายที่รออยู่

ในปี 2020 TSMC ได้เปิดตัวเทคโนโลยีขนาด 5nm ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสมาร์ทโฟนและการประมวลผลประสิทธิภาพสูง (High Performance Computing หรือ HPC) จากนั้นในปี 2022 ก็ได้พัฒนาไปสู่เทคโนโลยีขนาด 3nm ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงานดียิ่งขึ้น และกลายเป็นพื้นฐานของชิป A-series ใน iPhone รุ่นล่าสุด

ด้วยเทคโนโลยีขนาด 2nm ถือเป็นอีกขั้นของความก้าวหน้า ที่จะเปิดทางให้อุปกรณ์อัจฉริยะรุ่นใหม่ทำงานเร็วขึ้น แบตเตอรี่อึดขึ้น และมีขนาดเล็กลงกว่าเดิม โดยไม่ลดทอนพลังการประมวลผลแม้แต่น้อย

นอกจากสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป ชิป 2nm ยังเหมาะอย่างยิ่งกับแอปพลิเคชัน AI ที่ต้องการความเร็วและความแม่นยำสูง เช่น voice assistance การแปลภาษาเรียลไทม์ รถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์อัจฉริยะ และศูนย์ข้อมูล (Data Center) อาจมีการลดการใช้พลังงานและปรับปรุงขีดความสามารถในการประมวลผล ซึ่งมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การผลิตชิปขนาดเล็กระดับนี้ต้องอาศัยเทคนิคขั้นสูงอย่าง EUV lithography ที่มีต้นทุนสูงและต้องการความแม่นยำสูง อีกทั้งยังมีความท้าทายด้านการระบายความร้อน เพราะความหนาแน่นของทรานซิสเตอร์ที่สูงขึ้นอาจทำให้ความร้อนสะสมง่าย และยังมีข้อจำกัดทางฟิสิกส์ของวัสดุซิลิคอนเดิม ที่อาจต้องมีการพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ เข้ามาทดแทน

ก้าวสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยี

ถึงแม้จะมีอุปสรรค แต่พลังการประมวลผล ประสิทธิภาพด้านพลังงาน และขนาดที่เล็กลงของชิป 2nm อาจเปิดประตูสู่ยุคใหม่ของการประมวลผลสำหรับผู้บริโภคและอุตสาหกรรม ชิปที่เล็กลงอาจนำไปสู่ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีแห่งอนาคต สร้างอุปกรณ์ที่ไม่เพียงแต่ทรงพลัง แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดย TSMC คาดว่าจะเริ่มผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตรในระดับอุตสาหกรรมได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้ 

อ้างอิง: theconversation

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

นักวิทย์เพาะฟันได้สำเร็จ! ฟันใหม่งอกเหมือนจริง ไม่ต้องผ่าตัดฝังรากเทียม

นักวิทยาศาสตร์จาก King’s College London “เพาะฟัน” ได้สำเร็จในแล็บ ตั้งเป้านำเทคโนโลยีนี้มาใช้ปลูกฟันจริงในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฟัน โดยไม่ต้องพึ่งรากเทียม...

Responsive image

Osaka-Kansai Expo 2025 ส่อง 15 ไฮไลต์ห้ามพลาดในงาน

สำรวจทุกไฮไลต์จาก Osaka-Kansai Expo 2025 กับเทคโนโลยีล้ำสมัย พาวิลเลียนระดับโลก มาสคอต Myaku-Myaku และโซนจัดแสดงสุดล้ำที่คุณห้ามพลาด!...

Responsive image

รู้จัก o3 และ o4-mini โมเดล AI เชิงเหตุผลรุ่นใหม่จาก OpenAI

รู้จัก o3 และ o4-mini จาก OpenAI โมเดล AI reasoning รุ่นล่าสุด คิดเป็นระบบ เข้าใจภาพ และตอบแม่นยำกว่าเดิม ก่อนถึงยุค GPT-5...