แค่คิดเรื่องการจัดการแยกสารพัดขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ถูกต้องตามหลักสากล ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนไทยส่วนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดความตระหนักถึงปัญหาที่ตามมา 3 หน่วยงานภาครัฐและเอกชน NIA - True - สจล. จึงนำ 5 นวัตกรรมจากผู้ประกอบการไทยมาช่วยแก้ปัญหาจัดการขยะในเมือง โดยจัดตั้งจุด 'ฉลาดทิ้ง : สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ' หรือ 'Waste Wise Station' นำร่องที่อาคาร True Digital Park (TDPK) เร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในย่านปุณณวิถีก่อน
โครงการ 'ฉลาดทิ้ง' ถือเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันกรุงเทพมหานครสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับพฤติกรรมการแยกขยะอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างมีมาตรฐาน พร้อมยกระดับย่านนวัตกรรมปุณณวิถีให้เป็นพื้นที่ต้นแบบธุรกิจสีเขียวที่ผสานนวัตกรรม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม
Waste Wise Station มี 5 นวัตกรรมสำหรับการจัดการขยะ 5 ประเภท ได้แก่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์, ขยะอินทรีย์ (เศษอาหาร) เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว ขวดพลาสติก PET และน้ำมันพืชเหลือใช้ ดังนี้
(ตามลำดับ) 'OKLIN' เทคโนโลยีชีวภาพกำจัดขยะเศษอาหาร, CIRCULAR นวัตกรรมรีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเป็นวัสดุใหม่โดยไม่ผ่านการฟอกย้อม และ TRUE ระบบการรายงานผลการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ พร้อมคำนวณการลดคาร์บอน
'REFUN' ตู้รับคืนขวดพลาสติก PET อัตโนมัติ และ 'RECYCOEX' ตู้รับน้ำมันพืชใช้แล้ว
Waste Wise Station แห่งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA, ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และองค์กรเอกชน กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยจุดประสงค์ร่วมที่จะนำนวัตกรรมมาช่วยลดปริมาณขยะ ร่วมแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสร้างสังคมรีไซเคิลที่ยั่งยืนระดับเมือง ตลอดจนช่วยสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพในกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมการจัดการขยะของผู้ประกอบการไทย สามารถขยายโมเดลธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวในฐานะที่ NIA เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศภายใต้บทบาท 'ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)' พร้อมที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรและกลไกการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มาร่วมขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากระบบนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการรวมกลุ่มธุรกิจและสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ดังเช่นการดำเนินงานใน 'ย่านนวัตกรรมปุณณวิถี' เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจนวัตกรรมสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นและเป็นพื้นที่เรียนรู้ พัฒนานวัตกรรมสำหรับคนเมือง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดการลงทุนทางด้านนวัตกรรมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ บ่มเพาะ สร้างสรรค์ธุรกิจ สินค้าและบริการใหม่ๆ ให้สอดรับกับโจทย์ความท้าทายที่ NIA และภาคีเครือข่ายย่านนวัตกรรมปุณณวิถีกำหนดขึ้น
“ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ช่วยรองรับการทิ้งขยะคัดแยกจากครัวเรือน NIA จึงร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร Punnawithi Tech On Ground สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และศูนย์การทดลองเมืองกรุงเทพฯ (Bangkok City Lab) ออกแบบ 'ฉลาดทิ้ง : สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ' ในพื้นที่ของ True Digital Park ซึ่งเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมปุณณวิถี เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการทดลองใช้ 5 นวัตกรรมตู้รับขยะอัจฉริยะ รองรับขยะ 5 ประเภท ได้แก่ 1) ขยะประเภท E-Waste 2) ขยะประเภทเศษอาหารหรือย่อยอาหารเป็นปุ๋ย 3) ขยะประเภทเสื้อผ้า 4) ขยะประเภทขวดพลาสติก และ 5) ขยะประเภทน้ำมันเก่า รวมถึงเปิดโอกาสการขยายธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทย เพราะ Punnawithi Tech On Ground ไม่เพียงเป็นเวทีแสดงนวัตกรรม แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจ นักลงทุน และผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนในธุรกิจ ESG & Circular Economy ได้พบปะ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ขยายตลาด และหาพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับประเทศต่อไป”
พื้นที่จัดแสดง 5 นวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย และ 6 สุดยอดนวัตกรรมทำถึงจากน้องๆ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมบริหารจัดการขยะการในโครงการ 'e-Waste HACK BKK 2024' ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นจัดขึ้นในปี 2567
คุณจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักในหน้าที่ของเทคคอมปานีไทยที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บนพื้นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในมิติสิ่งแวดล้อม คือ การลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ฝังกลบให้เป็นศูนย์ (Zero e-Waste to landfill) ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านกรุงเทพมหานครสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยได้พัฒนา ตู้รับขยะอัจฉริยะ True e-Waste Vending Machine ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยระบบรับคืน e-Waste อัตโนมัติ พร้อมทั้งแสดงค่าคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าที่ลดลงจากการนำไปรีไซเคิล และมีระบบการรายงานผลการทิ้งแบบ real-time เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี 100% ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ติดตั้ง 'ฉลาดทิ้ง : สถานีจัดการขยะอัจฉริยะ' ในอาคารทรู ดิจิทัล พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์กลางย่านนวัตกรรมปุณณวิถี เพื่อสนับสนุนให้แยกขยะแต่ละประเภทและทิ้งให้ถูกที่ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นเป็น The World Master of Innovation ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างองค์ความรู้ งานวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี แต่ยังเสริมสร้างผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้านเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือสังคม สำหรับการดำเนินงานในโครงการนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของสถาบันในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและการวิจัยที่มุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงบวก ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยเรามุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านการจัดการขยะที่กำลังเป็นปัญหาท้าทายในปัจจุบัน โดยโครงการนี้ไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมมือกับ NIA ยังทำให้สถาบันสามารถนำเสนอการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากขยะในเมืองใหญ่และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อที่ 13 ได้
และเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืนและสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาสังคมในระยะยาว พร้อมกับการเสริมสร้างองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อม
"จากจุดเริ่มต้นที่ลาดกระบัง มีทางเขตมาดูว่าจะจัดการขยะแบบไหน ปกติการกำจัดขยะ ถ้าไม่เผาก็ไถกลบ แต่ที่ต่างประเทศเห็นคุณค่าของขยะ ขยะมีคุณค่าในการรีไซเคิล เขาจึงแยกขยะและนำขยะไปสร้างมูลค่าต่อได้ อย่างที่ OKLIN, Circular ทำ เราก็ทำได้ แต่มองว่าเรื่องนี้ทำได้ 2 แบบ คือ ทำแบบถูก 'บังคับทำ' หรือ 'ทำด้วยใจ' ซึ่งถ้าสถานีนี้มีประโยชน์ต่อ TDPK ต่อย่านปุณณวิถี เราเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อที่อื่นๆ ด้วย และในวันนี้ ความร่วมมือระหว่างลาดกระบัง, NIA, True ไม่ได้ทำแบบเดิมๆ อีกแล้ว ปลายทางจะผลิตอะไรออกมา ต้องรีเทิร์นกลับมาเป็นมูลค่าให้ได้ ดังนั้น จึงต้องคิดตั้งแต่เริ่มต้นยันจุดสุดท้าย เมื่อสร้างรายได้กลับมาจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ" ดร.คมสันกล่าว
วงเสวนาในหัวข้อ 'นวัตกรรมตู้รับขยะอัจฉริยะ'
ภายในงานมีวงเสวนาในหัวข้อ 'นวัตกรรมตู้รับขยะอัจฉริยะ' ธุรกิจนวัตกรรมจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดย ดร.ศักดิ์ดา เหลืองสกุลทอง Head of True LAB บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซอร์คูลาร์ อินดัสทรี้ จำกัด คุณณัฐกานต์ คลอวุฒิอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด คุณอนน เชาวกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีฟัน จำกัด และ มาเล่าถึงที่มาที่ไปของนวัตกรรม และ ผศ.ดร.ศักรินทร์ แซ่ภู่ รักษาการแทนผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหัวหน้าโครงการห้องทดลองเมืองนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.ศักรินทร์กล่าวในวงเสวนาว่า "Waste Wise Station แห่งนี้ เราไม่ได้มองเรื่องธุรกิจเป็นอันดับแรก แต่มองว่าสามารถทำต่อเนื่องไปเป็นธุรกิจได้ และเราเล็งเห็นว่า มีคนไม่รู้วิธีแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กับขยะทั่วไปอีกมาก จึงอยากให้คนได้เรียนรู้ในพื้นที่ ทำให้เรื่องการจัดการขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว คนทั่วไปกลับมาเปลี่ยนวิถีชีวิต เพราะถ้าแยกขยะเสื้อผ้า ขยะอินทรีย์ ขยะขวดพลาสติกถูกต้อง จะทำให้มีมูลค่าสูงขึ้น และเมื่อมีขยะจำนวนมากก็สามารถทำเป็นธุรกิจได้ และคาดหวังให้ทุกภาคส่วนขยายผลออกไปโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด"
ดร.ศักรินทร์ให้รายละเอียดเพิ่มว่า Waste Wise Station แบ่งการจัดการขยะออกเป็น 3 ส่วน คือ 'นิเวศหน้าตู้' ระบบนิเวศแห่งการใช้งาน ซึ่งจะเชื่อมโยงการใช้งานภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย 'นิเวศหลังตู้' ระบบนิเวศที่นำไปสู่การจัดการข้อมูล บอกมูลค่า รวมถึงคาร์บอนเครดิตได้ และอาจเทรดได้ในอนาคต และ 'นิเวศนอกตู้' ระบบนิเวศที่ช่วยให้การจัดการขยะของผู้ที่มารับช่วงต่อนั้นสะดวกยิ่งขึ้น เช่น กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้การจัดตั้งสถานีจัดการขยะอัจฉริยะที่ TDPK อยู่ในแผน 'Retail Location Waste' หรือ การจัดการขยะตามแหล่งค้าปลีก ซึ่งเป็น 1 ใน 5 รูปแบบการจัดการขยะที่จะขยายโมเดลและสร้างมูลค่าต่อไป
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด