ควรเปลี่ยนมือถือทุกๆ กี่ปี ? คำถามนี้อาจผุดขึ้นมาในหัวทุกครั้งที่มีมือถือรุ่นใหม่เปิดตัว พร้อมฟีเจอร์ล้ำ ๆ และกล้องที่คมกว่าครั้งก่อน แต่รู้หรือไม่ว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนส่วนใหญ่เปลี่ยนมือถือใหม่ทุก 2.5 – 3 ปี ทั้งที่มือถือหลายรุ่นยังใช้งานได้ดี แค่แบตเสื่อมหรือหน้าจอแตกนิดหน่อย ก็รีบเปลี่ยนเครื่องทันที
ล่าสุดทาง Back Market แพลตฟอร์มขายอุปกรณ์รีเฟอร์บิช (Refurbished) จับมือกับ iFixit เปิดแคมเปญที่ตั้งใจเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยแนวคิดว่า การใช้มือถือให้นานขึ้นอย่างน้อย 5 ปี ไม่เพียงช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ข้อมูลจาก Apple และงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมหลายแหล่งระบุว่า การเปลี่ยนแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียวใน iPhone 13 แล้วใช้งานต่อจนครบ 5 ปี จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนถึง 49% เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนเครื่องใหม่ตามรอบทั่วไป และถ้าเครื่องนั้นได้รับการดูแลดีพอที่จะใช้งานต่อเนื่องถึง 10 ปี จะลดการปล่อย CO₂ ได้มากถึง 68% ซึ่งเท่ากับลดขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลลงได้ทันทีในระดับโลก
ประเด็นสำคัญคือ การรักษาอุปกรณ์ให้ใช้งานได้นานไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้ง Back Market และ iFixit ยังร่วมกันผลักดันให้ภาครัฐและผู้ผลิตสมาร์ตโฟนขยายการซัพพอร์ตอะไหล่และซอฟต์แวร์ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นและลดการถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนเครื่องเพียงเพราะระบบไม่อัปเดตหรือหาอะไหล่ไม่ได้
ทั้งสองบริษัทผลักดันให้ผู้ผลิตขยายระยะเวลาการซัพพอร์ตจากเดิมที่อยู่ที่ราว 7 ปี ให้เพิ่มเป็น 10 ปี เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้สมาร์ตโฟนเครื่องเดิมได้อย่างมั่นใจในระยะยาว
นอกจากนั้น พวกเขายังเรียกร้องให้ผู้ผลิตเปิดช่องทางให้ผู้ใช้ทั่วไปเข้าถึงอะไหล่ คู่มือการซ่อม และเครื่องมือที่จำเป็นได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องผ่านศูนย์บริการที่ผูกขาดการซ่อมหรือจำกัดสิทธิ์ในการดูแลอุปกรณ์ของตัวเอง
ปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น Apple, Google และ Samsung เริ่มขยับมาให้การสนับสนุนระยะยาวในระดับ 7 ปี ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่ยังถือว่าไม่ครอบคลุมพอ โดยเฉพาะเมื่อมองไปที่แบรนด์อื่นในตลาด Android ที่อยู่ในกลุ่มราคากลางถึงล่าง ซึ่งยังคงซัพพอร์ตเพียงแค่ 3-4 ปี หรือบางรุ่นแทบไม่มีการอัปเดตเลยหลังจากขายไปเพียงปีหรือสองปีแรก
ซึ่งการการผลักดันให้ผู้ผลิตขยายการซัพพอร์ตจึงไม่ใช่แค่เรื่องความยุติธรรมกับผู้บริโภค แต่ยังเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานให้เกิด “เศรษฐกิจการซ่อม” (Repair Economy) ที่หมุนเวียนได้จริง และยั่งยืนในระยะยาว
อ้างอิง: wired
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด