Dire Wolf คือชื่อของหมาป่าสายพันธุ์หนึ่งซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 12,500 ปีก่อน และในวันนี้ พวกมันได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งอย่างน่าทึ่งด้วยฝีมือของบริษัท Colossal Biosciences ที่อ้างว่าเป็น ‘สัตว์ชนิดแรกของโลกที่ถูกทำให้ฟื้นคืนชีพจากการสูญพันธุ์ (de-extinction) ได้สำเร็จ’
เบื้องหลังความสำเร็จนี้ คือการทำงานของนักวิทยาศาสตร์จาก Colossal ที่ใช้เทคโนโลยี DNA โบราณ (ancient DNA) ร่วมกับเทคนิคการโคลนนิ่ง และการตัดต่อพันธุกรรม (gene-editing) ขั้นสูง
พวกเขาเริ่มต้นจากการสกัด DNA จากฟอสซิล Dire Wolf จำนวน 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งคือฟันอายุ 13,000 ปีที่พบในสหรัฐฯ และอีกชิ้นคือกระดูกหูอายุ 72,000 ปี ที่ขุดพบใน American Falls รัฐไอดาโฮ จากนั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถประกอบ จีโนม (genome) หรือชุดข้อมูลทางพันธุกรรมที่สมบูรณ์และมีคุณภาพสูงของ Dire Wolf ออกมาได้สำเร็จ 2 ชุด
ทีมวิจัยนำจีโนมที่ได้มาเปรียบเทียบกับจีโนมของหมาป่าสีเทา (Gray Wolf) ซึ่งเป็นญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของ Dire Wolf ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อระบุยีนที่สร้างลักษณะเฉพาะตัวของ Dire Wolf เช่น ขนสีขาว ขนาดตัวที่ใหญ่ และขากรรไกรที่แข็งแรงกว่า
จากนั้น พวกเขาใช้เทคโนโลยี CRISPR ทำการแก้ไขยีนของเซลล์หมาป่าสีเทาถึง 20 ตำแหน่ง ใน 14 ยีน เพื่อให้มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับ Dire Wolf มากขึ้น
เซลล์ที่ผ่านการแก้ไข และมีแนวโน้มดีที่สุด จะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการโคลนนิ่ง และถ่ายโอนตัวอ่อนไปยังสุนัขบ้านพันธุ์ผสมในกลุ่มฮาวด์ (hound mixes) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแม่อุ้มบุญ
ความพยายามนี้ส่งผลให้กำเนิดลูกหมาป่า Dire Wolf ทั้งหมด 3 ตัว โดยใช้วิธีผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัย โดยมีเพศผู้สองตัวเกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ชื่อ โรมูลัส และ รีมัส และเพศเมีย 1 ตัว เกิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2025 ชื่อ คาลีซี)
หลังจากลืมตาดูโลก ลูกหมาป่า Dire Wolf ได้รับการดูแลจากแม่อุ้มบุญเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่ทีมงานจะแยกออกมาป้อนนมขวดเอง เนื่องจากพบว่าแม่สุนัขอุ้มบุญเริ่มเอาใจใส่มากเกินไป จนอาจรบกวนตารางการนอนและการกินตามปกติของลูกหมาป่า ซึ่งเป็นขั้นตอนการดูแลตามปกติในสถานการณ์เช่นนี้
Love Dalén ศาสตราจารย์ประจำศูนย์บรรพชีวินพันธุศาสตร์ (Centre for Palaeogenetics) และที่ปรึกษาของ Colossal อธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนการนี้ไม่ใช่การนำ DNA โบราณมาใส่ตรงๆ แต่เป็นการใช้เทคโนโลยี CRISPR แก้ไข จีโนมของหมาป่าสีเทา โดยนำลักษณะทางพันธุกรรม (gene variants) ที่เฉพาะเจาะจงของ Dire Wolf เข้าไปแทนที่ยีนเดิมบางส่วนของหมาป่าสีเทา
แม้ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นหมาป่าสีเทาถึง 99.9% แต่ยีนที่แก้ไขเข้าไปนั้น ทำให้พวกมันแสดงลักษณะของ Dire Wolf ออกมาอย่างที่ไม่เคยมีใครเห็นมานานกว่า 13,000 ปี
Colossal Biosciences เป็นบริษัทที่ร่วมก่อตั้งโดยผู้ประกอบการ Ben Lamm และ George Church นักพันธุศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและ MIT เมื่อเดือนกันยายน 2021 บริษัทระดมทุนไปได้แล้วอย่างน้อย 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจุบันมีทีมนักวิทยาศาสตร์ราว 130 คน
เป้าหมายของ Colossal ไม่ได้หยุดอยู่แค่ Dire Wolf พวกเขายังมีโครงการ คืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น แมมมอธขนยาว (Woolly Mammoth), นกโดโด้ (Dodo) และไทลาซีน (Thylacine) หรือเสือแทสเมเนีย โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถให้กำเนิดลูกแมมมอธขนยาวตัวแรกได้ภายในปี 2028
Colossal หวังว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในการฟื้นคืนชีพ Dire Wolf นี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยเหลือสัตว์ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ในปัจจุบันได้ด้วย
หนึ่งในตัวอย่างคือ บริษัทประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่ง หมาป่าแดง (Red Wolf) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์หมาป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวดที่สุด ได้ถึงสองครอกแล้ว โดยใช้เทคนิคการโคลนนิ่งแบบใหม่ที่รุกล้ำน้อยกว่า ซึ่งพัฒนาขึ้นระหว่างการวิจัย Dire Wolf นั่นเอง
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด