ธปท. ร่วมกับ แบงก์ชาติอินโด เปิดตัวบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code คาดใช้งานเต็มรูปแบบได้ต้นปีหน้า

รายงานข่าวจาก Fintechnews ประเทศสิงคโปร์ ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ร่วมกับธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) เปิดตัวบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Payment เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ผ่านมา ภายใต้บริการดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคและผู้ขายทั้งสองประเทศสามารถรับการชำระเงินสินค้าและบริการผ่าน QR Code  ได้ทันที ความพยายามที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญสำหรับการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มของภาคการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

QR Code

บริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Code ของไทยกับอินโดนีเซียจะดำเนินการคล้ายคลึงกับกรณีของสิงคโปร์และไทย กับ มาเลเซียและไทย ที่ก่อนหน้านี้ก็ได้ประกาศเปิดการใช้งานชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย QR Code ด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ การเปิดตัวบริการชำระเงินผ่าน QR Code  ยังคงอยู่ระหว่างขั้นตอนนำร่องของโครงการ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการจากร้านค้าอินโดนีเซียรวมไปถึงธุรกรรมจากแพลตฟอร์ม E-Commerce ระหว่างประเทศซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการเชื่อมต่อของบริการ QR Code จะดำเนินการได้อย่างราบรื่น โดยในขั้นตอนนำร่องดังกล่าว ผู้ใช้บริการจากอินโดนีเซียจะสามารถใช้แอปพลิเคชันการชำระเงินจากโทรศัพท์มือถือตนและสแกน รหัส QR ของไทยในการชำระเงินกับร้านค้าทั่วประเทศไทยได้เลย ขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานจากประเทศไทยเองก็สามารถสแกน QRIS (รหัส QR ตามมาตรฐานของประเทศอินโดนีเซีย) สำหรับร้านค้าของอินโดนีเซีย และแพลตฟอร์ม E-Commerce ได้

Sugeng ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ย้ำถึงโครงการนี้ว่า “การริเริ่มครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญของกรอบการดำเนินงานชำระเงินของอินโดนีเซียภายในปี 2025 โดยเฉพาะระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการรายย่อย บริการนี้จะช่วยเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่านรหัส QR ของทั้งสองประเทศ สิ่งที่น่าสนใจของโครงการนี้ก็คือ การใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่อ้างอิงจากกลไกลการใช้ชำระเงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency Settlement Framework) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมการเงิน และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่ำลงด้วย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ไม่เพียงแต่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมการเงินในภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ท่องเที่ยวอีกด้วย นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นการผนวกระหว่างภาคการเงิน เศรษฐกิจดิจิทัล ธุรกิจ E-Commerce เรียกได้ว่า เป็น “แซนด์บ็อกซ์ของอุตสาหกรรม” (Industrial Sandbox) ที่อยู่ระหว่างทางการขยายการชำระเงินข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”

ในฝั่งของคุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้กล่าวเสริมว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศมาโดยตลอด ซึ่งจะเห็นได้จากการดำเนินโครงการที่ใกล้เคียงกันในภูมิภาคมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เราเชื่อว่าการชำระเงินผ่าน QR Code จะช่วยเพิ่มทางเลือกการทำธุรกรรมการเงินที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากว่าสำหรับการชำระเงินของประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ บริการดังกล่าวจะช่วยเหลือบรรดาธุรกิจ E-Commerce ในช่วงเวลาท้าทายเช่นนี้ และเป็นตัววางรากฐานสำหรับการฟื้นธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็จะเร่งให้พลเมืองภูมิภาคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะเอื้อต่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในรูปแบบดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้น” 

คาดการณ์ว่าบริการดังกล่าวจะใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 และจะสามารถขยายการให้บริการชำระเงินรูปแบบ QR Code ให้รับรองทั้งนอกเหนือจากสถาบันการเงิน และอาจใช้งานได้ผ่านเบอร์โทรศัพท์ได้ 


ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...