บอร์ด EV ตั้งเป้าเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% พร้อมผุดสถานีชาร์จ 12,000 แห่ง ภายในปี 2573

'บอร์ด EV ' เปิดแผนเร่งผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ให้ได้ 30% ภายในปี 2573 พร้อมติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับ 12,000 แห่ง เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society)

บอร์ด EV

คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า เมื่อ 12 พ.ค.ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมบอร์ดอีวีเพื่อพิจารณาแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศให้สอดรับนโยบาย 30/30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ ( ZEV) อย่างน้อย 30% ของการผลิต ในปี 2573 (2030) ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society)

ทั้งนี้ในที่ประชุมครั้งนี้โดยกำหนดให้ภายในปี 2573 จะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน และประเภทรถบัส/รถบรรทุกจะมีการผลิตทั้งสิ้น 34,000 คัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเป้าหมายการใช้ในประเทศ การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงพิจารณาแนวทางส่งเสริม EV ให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดภายในปี 2573

สำหรับการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะกระจายทั่วประเทศภายในปี 2573 สำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะในลักษณะ Fast Charge จะมีจำนวนทั้งสิ้น 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swap) ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารับจ้างและส่งสินค้า Delivery จำนวนทั้งสิ้น 1,450 แห่ง พร้อมกำหนดมาตรการส่งเสริมทางการเงินและภาษี การกำหนดมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย พร้อมทั้งบูรณาการให้เข้ากับระบบสมาร์ทกริด ด้านการผลิตแบตเตอรี่ได้พิจารณาจากแผนการผลิตของภาคเอกชนแล้วที่ประชุมจึงได้กำหนดเป้าหมายการผลิตแบตเตอรี่ให้สอดคล้องกับการผลิตรถ ZEV ในประเทศ

“การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามีกรอบแนวทางมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ส่วนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้านั้น มีแนวทางการสนับสนุนการลงทุน พร้อมทั้งหาแนวทางการลดขั้นตอน ค่าใช้จ่าย และระยะเวลาการขออนุญาตติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น ด้านมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการสนับสนุนด้านการเงินให้กับผู้ผลิต การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัตถุดิบ พร้อมทั้งสนับสนุนการทดสอบมาตรฐานกับหน่วยตรวจหรือศูนย์ทดสอบภายในประเทศ และจะมีการออกกฎระเบียบแนวทางนโยบายมาตรการด้านแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วอีกด้วย” คุณสุพัฒนพงษ์กล่าว

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนำแนวทางต่างๆ ไปศึกษาถึงรายละเอียดและความเป็นไปได้ของมาตรการส่งเสริมต่างๆ เพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป 

มาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) : ปี 2564 - 2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ

ระยะที่ 2 : ปี 2566 - 2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy of Scale

ระยะที่ 3 : ปี 2569 – 2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย






ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...