Forbes เผยมหาเศรษฐีโลกสู้ COVID-19 มีชื่อเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์จากไทย

Forbes  สื่อดังระดับโลก ติดตามภารกิจมหาเศรษฐีโลกรวมใจสู้ภัย COVID-19 มีชื่อ “ธนินท์ เจียรวนนท์” จากไทยรวมในทำเนียบเศรษฐีใจบุญ ชูภารกิจสร้างโรงงานหน้ากากอนามัยแจกฟรี ด้าน“บิลล์ เกตส์” บริจาคเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐฯสนับสนุนการผลิตวัคซีนและวินิจฉัยโรค

“เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์”  เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง แปลงโรงงานผลิตน้ำหอมผลิตเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค  “มาร์ค ซักเคอเบิร์ก” แห่ง Facebook ช่วยธุรกิจขนาดเล็ก 

รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ล่าสุดเว็บไซต์ FORBES.COM สื่อดังระดับโลกเผยแพร่บทความ Billionaire Tracker: Actions The World’s Wealthiest Are Taking In Response To The Coronavirus Pandemic โดยนำเสนอให้เห็นว่าบรรดามหาเศรษฐีชั้นนำได้เข้ามาช่วยโลกรับมือวิกฤต COVID-19 และพยุงเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีเบอร์ต้นของโลกอย่าง “บิลล์ เกตส์” ที่เคยออกมาเตือนถึงโรคระบาดครั้งใหญ่ได้บริจาคเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยสนับสนุนการผลิตวัคซีนและวินิจฉัยโรค เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีทุกวงการในสหรัฐฯ และทั่วโลก 

ซึ่ง Forbes ได้รวบรวมมาว่ามหาเศรษฐีชั้นนำทั่วโลกที่ต่างบริหารธุรกิจจนประสบความสำเร็จสร้างอาณาจักรที่แข็งแกร่งนี้ พวกเขาได้ออกมาช่วยเหลือสังคมอย่างไรบ้างในยามวิกฤตนี้ มีตั้งแต่การบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสิ่งอย่างตั้งแต่ถุงมือยาง เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือวินิจฉัยและตรวจหาเชื้อ COVID-19 ไปจนถึงปรับเปลี่ยนไลน์การผลิตสินค้ามาร่วมเดินเครื่องจักรผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลนอย่างเร่งด่วนแทน อาทิ กลุ่มธุรกิจแบรนด์แฟชั่นดัง LVMH , กลุ่มธุรกิจยานยนต์ Ford และบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง GE และอีกหลายธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต่างกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัสกันอย่างเร่งด่วน  นอกจากนี้ Forbes ยังรายงานด้วยว่าทำเนียบมหาเศรษฐีที่ร่วมเข้ากอบกู้วิกฤตครั้งนี้ หนึ่งในนั้นมีชื่อของคนไทย “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ 

ซีพี เอกชนชั้นนำของประเทศไทยเจ้าของอาณาจักรอุตสาหกรรมด้านเกษตรและอาหารเบอร์ต้นของโลก Forbes  รายงานว่า นายธนินท์ได้เปิดตัวโครงการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสังคมจากวิกฤต COVID-19 หลายโครงการและถือเป็นแนวคิดริเริ่มครั้งแรกไม่ว่าจะเป็น การทุ่มงบประมาณสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรีให้ทุกคน โดยตั้งเป้าจะเร่งผลิตให้ได้วันละ 100,000 ชิ้น หรือเดือนละ 3 ล้านชิ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะเดียวกันได้มอบชุดป้องกันการติดเชื้อเพื่อแพทย์ พยาบาล และบุคลากรโรงพยาบาล ตลอดจนมีโครงการจัดส่งอาหารฟรีให้บุคลากรโรงพยาบาลรัฐกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักบริเวณ รวมทั้งการประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นราคาสินค้าในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ นอกจากนี้ได้มีการรวมรวมโครงการเพื่อสังคมที่กลุ่มซีพีได้ดำเนินการในช่วง 4 ปีที่ผ่านมากว่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินบริจาคเงินและอาหารยามวิกฤตน้ำท่วม ทุนการศึกษา โครงการผิงกู่ และการลงทุนให้สังคมด้านการศึกษา ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ Forbes ได้รวบรวมและรายงานให้เห็นภาพของกลุ่มธุรกิจ และมหาเศรษฐีชั้นแนวหน้าของโลกที่ทุ่มเทอย่างเต็มกำลังเพื่อร่วมกู้วิกฤต COVID-19 อย่างเป็นรูปธรรมจำนวนเกือบร้อยคน นอกจาก “บิลล์ เกตส์” แล้วยังมี “แจ็ก หม่า” ผู้ร่วมก่อตั้งอาณาจักร Alibaba ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบเงิน 14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการพัฒนาวัคซีน COVID-19 นอกจากนี้เขายังบริจาคชุดทดสอบโรค 500,000 ชุดและหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นให้กับประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้ส่งเวชภัณฑ์และชุดทดสอบโรคไปยังอิตาลี และประเทศอื่น ๆ ทั่วแอฟริกา ละตินอเมริกา เอเชีย และล่าสุดได้จัดตั้ง Global MediXchange สำหรับการรวมองค์ความรู้ COVID-19 เพื่อแบ่งปันข้อมูลกับแพทย์ทั่วโลก ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างการแพร่ระบาด ขณะที่เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง  LVMH เจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ได้แปลงโรงงานผลิตน้ำหอมสามแห่งมาผลิตเจลล้างมือฆ่าเชื้อโรคแจกจ่ายให้กับหน่วยงานของฝรั่งเศสและระบบโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปฟรี ทั้งยังจัดหาหน้ากากอนามัยอย่างน้อย 40 ล้านชิ้นให้กับฝรั่งเศสโดยจ่ายเงินประมาณ 5.4 ล้านดอลลาร์ (5 ล้านยูโร) สำหรับการจัดส่งในสัปดาห์แรก 

ส่วนเศรษฐีเจ้าของอาณาจักรเฟซบุ๊ค “มาร์ค ซักเคอเบิร์ก” ได้ร่วมพามูลนิธิของเขาทำงานร่วมกับ UC San Francisco และ Stanford University เพื่อเร่งวินิจฉัยโรค ตลอดจนซื้อเครื่องตรวจวินิจฉัยที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA นอกจากนี้ยังประกาศมอบเงิน 100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ และได้บริจาคเงิน 20 ล้านดอลลาร์ให้กับสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ขณะเดียวกันยังประกาศจะบริจาคเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อซื้อหน้ากากจำนวน 720,000 ชิ้น ให้กับเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ และจะทำงานเพื่อหาแหล่งบริจาคอีกนับล้านต่อไป

ฟาก “เจฟฟ์ เบโซส” เจ้าของอาณาจักรแอมาซอน ลงทุนจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการ AWS Diagnostic Development Initiative เพื่อสร้างชุดการทดสอบ COVID-19 รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนการจ้างงานเต็มเวลาและพาร์ทไทม์ 100,000 ตำแหน่งทั่วสหรัฐอเมริกา ตลอดจนเพิ่มค่าจ้างรายชั่วโมงในอเมริกาและทั่วโลก โดยแอมาซอนยังบริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์ให้กับกองทุนฉุกเฉิน COVID-19 ในวอชิงตัน ดี.ซี. และสร้างกองทุนบรรเทาทุกข์ 5 ล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และบริจาค 1 ล้านดอลลาร์ให้กับมูลนิธิซีแอตเทิลใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสระบาดด้วย ขณะที่ “ลี กา-ชิง” นักลงทุนผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในเอเชียบริจาคเงิน 13 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือเมืองอู่ฮั่น เป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันมูลนิธิของเขายังได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยจำนวน 250,000 ชิ้น ให้กับองค์กรสวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในฮ่องกง

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...