ธนาคารออมสิน เดินหน้าแก้ พ.ร.บ. เตรียมตั้งบริษัทลูก-ขยายสาขาในต่างประเทศ พร้อมลุยแผน Non Bank รัฐ

“คุณประภาศ” ประธานบอร์ดออมสินคนใหม่ สั่งศึกษาแก้ พ.ร.บ.ออมสิน เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน ทั้งปลดล็อกการตั้งบริษัทลูก ขยายสาขาไปต่างประเทศ หนุนช่วยประชาชนทำธุรกรรมได้คล่องตัวขึ้น พร้อมแผนลุยตั้ง Non Bank รัฐแห่งแรก ทำธุรกิจที่ดิน ยังคงเดินหน้าตามเดิม คาดเสร็จสิ้นภายในปี 65

ธนาคารออมสิน เดินหน้าแก้ พ.ร.บ. เตรียมตั้งบริษัทลูก-ขยายสาขาในต่างประเทศ พร้อมลุยแผน Non Bank รัฐ 

คุณประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการธนาคารออมสิน เปิดเผยหลังเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ดออมสินว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเข้าไปทำการศึกษาการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ออมสิน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอำนาจในการจัดตั้งบริษัทลูกได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เปิดทางให้ออมสินจัดตั้งเองได้ เพียงแค่เปิดให้เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น รวมถึงการเปิดทางให้ออมสินขยายสาขาไปตั้งยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

พร้อมย้ำการให้พิจารณาแก้กฎหมายครั้งนี้ ไม่ใช่การเพิ่มบทบาทให้ออมสิน เข้าไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ หรือแย่งชิงกำไรกับเอกชน แต่เป้าหมายหลักยังคงตัวตนในการเป็นธนาคารรัฐ ที่เน้นช่วยเหลือประชาชนฐานราก และเข้าไปสร้างความเป็นธรรมในระบบการเงินดูแลผู้มีรายได้น้อย เพราะบางอย่างมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทหน้าที่ หากทำในรูปแบบธนาคารรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจก็อาจไม่คล่องตัว หรือหากไปร่วมทุนกับเอกชน ก็อาจยังมีมุมมองในเรื่องผลกำไร ทำให้ไม่สามารถช่วยประชาชนได้เต็มที่

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาแก้ พ.ร.บ.ออมสิน ครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อแผนเดินหน้าธุรกิจขายฝากที่ดิน หรือการทำนอนแบงก์รัฐ ที่กำลังทำขณะนี้ โดยธนาคารมีแผนทำให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเป็นเหมือนเฟสสอง ต่อจากโครงการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่ธนาคารร่วมมือกับพันธมิตรไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจขายฝากคิดดอกเบี้ยสูงมาก

ดังนั้น การที่ธนาคารออมสินจะมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาด เพื่อช่วยกดให้ดอกเบี้ยต่ำลง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดให้เหมาะสม และช่วยให้ประชาชนลดการพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่งหากเจอพันธมิตรที่เหมาะสม ก็สามารถเดินหน้าต่อโดยไม่จำเป็นต้องรอแก้กฎหมายให้เสร็จ

ทั้งนี้คุณประภาศกล่าวต่อไปว่า ในบรรดาธนาคารรัฐทั้งหมด มองว่ากฎหมายของออมสินค่อนข้างเข้มงวด เนื่องจากพื้นฐานของออมสินเป็นธนาคารของรัฐ ดังนั้นการปรับแก้กฎหมายต้องพิจารณาไม่ให้ขัดกับหลักการของธนาคาร ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก เช่น ปัจจุบันออมสินไม่สามารถตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำธุรกิจนอนแบงก์ได้

ดังนั้นในวันนี้หากออมสินต้องการจะดำเนินธุรกิจหลากหลายขึ้น ออมสินเข้าไปถือหุ้นใหญ่ก็จะต้องเป็นลักษณะการดำเนินงานในรูปแบบรัฐวิสาหกิจที่ไม่คล่องตัวเท่ากับบริษัท หรือการเข้าไปร่วมกับเอกชนก็อาจจะไม่ตรงกับเป้าหมายของธนาคาร เพราะเอกชนย่อมมีความคาดหวังต่อกำไรหรืออัตราผลตอบแทนที่สูงอยู่แล้ว

“อย่างไรก็ตามหากธนาคารออมสินสามารถตั้งบริษัทลูกเองได้ ก็อาจช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น เพราะออมสินถือหุ้นเอง ก็ไม่ต้องคิดในเชิงผลกำไรสูงเกินไป ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ไปศึกษาการแก้ไขกฎหมาย หรือกรณีถ้าอยากออกไปตั้งสาขาต่างประเทศ ต้องเข้าไปร่วมกับธนาคารอื่นในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะสามารถทำได้ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาส สร้างภาพลักษณ์ของธนาคารที่ดีได้” คุณประภาศ กล่าวทิ้งท้าย

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...