ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดโจทย์ท้าทายทางเศรษฐกิจของ "รัฐบาลใหม่"

โจทย์เศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งปี 2566 มีทั้งประเด็นระยะสั้นและระยะกลางที่มีความท้าทายอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดย "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" จึงนำเสนอประเด็นเตรียมความพร้อมสำหรับรัฐบาลใหม่สำคัญ ๆ ดังนี้

รัฐบาลใหม่

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลบวกต่อ GDP ในระยะสั้น แต่มีโจทย์ภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางนโยบายทางเศรษฐกิจที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งที่โดยมากแล้วเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือด้านรายได้ให้กลุ่มเปราะบาง การปรับขึ้นค่าแรง การบรรเทาภาระการครองชีพจากราคาพลังงานที่สูง

    ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และหากสามารถดำเนินการได้ก็จะส่งผลบวกต่อ GDP ในระยะสั้น แต่ก็จะมีโจทย์ภาระการคลังที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย เนื่องจากหากแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบายดังกล่าวมาจากการจัดสรรงบประมาณใหม่คงทำได้ระดับหนึ่งแต่ไม่น่าจะเพียงพอ หรือใช้รายได้รัฐบาลจากการเก็บภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็อาจจะต้องรอระยะเวลาให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่ม ซึ่งคงไม่ทันช่วงเวลาที่จะต้องมีรายจ่าย ดังนั้น รัฐบาลใหม่คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเผชิญการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

  • โจทย์การคลังมาในจังหวะต้นทุนดอกเบี้ยสูง และหากรัฐบาลขาดดุลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อาจจะเป็นการแย่งทรัพยากรเงินทุนกับภาคเอกชนในจังหวะเศรษฐกิจฟื้นตัว หากรัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณสูงกว่าเดิมเพื่อดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้น ต้นทุนการก่อหนี้เพิ่มเติมของรัฐบาลจะมีภาระเพิ่มมากขึ้นในจังหวะดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คาดว่าจะไปอยู่ที่ร้อยละ 2.00

    นอกจากนั้น การก่อหนี้เพิ่มของรัฐบาลมากๆ อาจจะเป็นการแย่งทรัพยากรเงินทุนกับภาคเอกชน ดังนั้น รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณากระจายการก่อหนี้ให้เหมาะสม มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้เอกชนในจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว

  • ยังมีโจทย์ท้าทายทางเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่กำลังรอรัฐบาลใหม่อยู่ โดยเฉพาะประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ และโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องอาศัยความเข้าใจและมองประเด็นดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน การวางนโยบายที่ครอบคลุมและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และคาดหวังที่จะเห็นการแสดงวิสัยทัศน์และแสดงบทบาทของรัฐบาลใหม่ในฐานะผู้นำต่อโจทย์ท้าทายดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

  • โจทย์ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มเห็นการแบ่งโลกออกเป็นสองขั้วชัดขึ้น การเลือกย้ายฐานการลงทุนจะเห็นการแบ่งแยกขั้วมากขึ้น ซึ่งเริ่มเห็นได้จากห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ในอนาคตอาจจะเห็นการแบ่งแยกขั้วที่ชัดเจนขึ้นและขยายวงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบกลับมายังทิศทางการส่งออกของไทย การเดินหน้าจับคู่ลงทุนและการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ สำหรับไทยยังเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลใหม่

  • โจทย์ใหญ่เชิงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสังคมสูงอายุและประชากรที่ลดลงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ความน่าสนใจของประเทศในฐานะแหล่งลงทุน ไปจนถึงการเก็บรายได้ของรัฐบาล การรับมือกับโจทย์สังคมสูงอายุ นอกจากจะมีความเกี่ยวพันกับประเด็นปัญหาของตลาดแรงงานทั้งในมิติความเพียงพอของแรงงาน ความสอดคล้องกันของทักษะแรงงานและความต้องการของตลาด

    รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแล้ว ยังมีโจทย์อีกด้านในฝั่งการเงินที่ต้องเดินคู่ขนานกัน ซึ่งก็คือ โจทย์การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านการสร้างรายได้ สนับสนุนการก่อหนี้สร้างมูลค่าเพิ่มต่อครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ที่ยั่งยืนสำหรับกลุ่มที่มีหนี้อยู่แล้ว รวมถึงการสร้างวินัยการออมที่ต้องผลักดันโจทย์การออมให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อีกทั้งใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่าอายุของรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม

  • โจทย์ด้านนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ  โดยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมกำลังกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) รูปแบบหนึ่งที่มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในเวทีการค้าโลก รวมถึงมีผลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (อียู) หรือ CBAM ที่จะเริ่มให้ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมที่กำหนดรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะนำเข้าไปในอียูในเดือนตุลาคม 2566 นี้ และจะเริ่มเก็บจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่เริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการเหล่านี้ จำกัดอยู่ที่ธุรกิจรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างความตื่นตัวสำหรับกิจการขนาดเล็กลงไป หรือกิจการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานภายในประเทศให้ชัดเจน สอดคล้องกับการดำเนินการสากล เพื่อให้ง่ายและเอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ

    ซึ่งอาจเป็นมาตรการทางภาษี แต่ก็ย่อมซ้ำเติมปัญหาสถานะทางการคลังในอนาคต หรือเป็นมาตรการภาคบังคับ ซึ่งคงต้องขบคิดประเด็นด้านการแบกรับต้นทุนส่วนเพิ่มของผู้ประกอบการ และแรงกดดันต่อรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้นกว่ามาตรการภาคสมัครใจอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ทั้งนี้ ประเด็นที่นำเสนอมาเป็นการรวบรวมประเด็นด้านเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนรายละเอียดอื่นๆ คงต้องรอความชัดเจนในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีใหม่ต่อไป

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...