ผู้ใช้ ChatGPT เผย AI เจนภาพใบเสร็จทิพย์-สลิปปลอมเสมือนจริง หวั่นตกเป็นเครื่องมือใหม่ของมิจฉาชีพ

หลังจาก OpenAI อัปเกรด ChatGPT-4o ให้เจนภาพเทพกว่าเดิมโดยสามารถสร้างข้อความภายในภาพได้อย่างแม่นยำกว่าที่เคย ได้ปรากฏชาวเน็ตแห่ทดลองสร้าง "สลิปโอนเงิน" และ "ใบเสร็จรับเงิน" ปลอม ซึ่งผลลัพธ์คือ สมจริงจนแทบแยกไม่ออก!

แม้จะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่น่าทึ่งแต่กลับสร้างความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการนำไปใช้ในทางที่ผิด เพราะศักยภาพในการสร้างหลักฐานปลอมที่แนบเนียนขนาดนี้ กำลังเปิดช่องให้เกิดการฉ้อโกงทางการเงินรูปแบบใหม่ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจอย่างรุนแรง

ใบเสร็จปลอมที่สร้างด้วย AI เริ่มปรากฏบนโลกออนไลน์

หลังการอัพเดทไม่นาน ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเริ่มทดลองความสามารถใหม่นี้ โดยนักลงทุน Deedy Das ได้แชร์ภาพใบเสร็จร้านอาหารปลอมที่อ้างว่าใช้ ChatGPT-4o ในการสร้างขึ้นลงบน X (เดิม Twitter) ที่ถูกสร้างเลียนแบบของจริงจากร้านสเต็กชื่อดังในซานฟรานซิสโก 

ผู้ใช้รายอื่นๆ สามารถสร้างใบเสร็จปลอมที่คล้ายกันได้ โดยบางคนถึงขั้นเพิ่มคราบอาหารและเครื่องดื่มลงไปเพื่อให้ดูสมจริงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การทดลองในช่วงแรกยังพบข้อผิดพลาดที่บ่งบอกว่าเป็นของปลอม เช่น การใช้เครื่องหมายจุลภาคแทนที่จะเป็นจุดทศนิยม และการคำนวณผลรวมที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยใน LLM ที่ยังไม่สามารถคำนวณตัวเลขได้อย่างแม่นยำเสมอไป

อย่างไรก็ตาม Raphael Chenol ผู้ใช้ LinkedIn ชาวฝรั่งเศสรายหนึ่งโพสต์ภาพใบเสร็จที่ถูกทำให้ยับยู่ยี่ที่สร้างเลียนแบบใบเสร็จจากร้านอาหารชื่อดังที่ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีความสมจริงที่สุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า AI สามารถสร้างเอกสารปลอมที่น่าเชื่อถือได้อย่างง่ายดาย ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการฉ้อโกงที่ใช้ AI เป็นเครื่องมือ

กรณีตัวอย่างสลิปธนาคารปลอมในประเทศไทย

ในประเทศไทย ผู้ใช้โซเชียลมีเดีย X รายหนึ่งชื่อ @kafaak ได้โพสต์ว่า อัปเดตใหม่ของ ChatGPT สามารถปลอมแปลงสลิปโอนเงินธนาคารได้ค่อนข้างแนบเนียน แม้ว่าตัวอักษรบางตัวในภาษาไทยอาจมีผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่ในส่วนของภาษาอังกฤษและตัวเลขอารบิกนั้นถูกต้องเกือบทั้งหมด

ตัวอย่างที่ผู้ใช้รายนี้แชร์แสดงให้เห็นว่า ต้นฉบับเป็นสลิปที่เขาโอนเงินจากบัญชีของเขาเองเป็นจำนวน 23,000 บาท จากนั้นสั่งให้ ChatGPT แก้ไขข้อมูลให้เป็นชื่อ “สมชาย” แต่ AI ดันสร้างออกมาเป็น “สบชาย” และเปลี่ยนยอดเงินเป็น 400,000 บาท 

สิ่งที่น่ากังวลคือ AI สามารถสร้างลายน้ำของธนาคารขึ้นมาเหมือนของจริง ทำให้สลิปที่ถูกปลอมแปลงดูสมจริงมากขึ้น ผู้ที่ทำธุรกรรมทางการเงินบ่อยๆ ไม่ควรตรวจสอบเพียงแค่สลิปเพียงอย่างเดียว แต่ควรเช็กยอดเงินเข้าบัญชีจริงเสมอรวมถึงตรวจสอบ QR Code บนสลิปอีกขั้น เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง

ความเสี่ยงจากใบเสร็จปลอมที่สร้างด้วย AI

ความสามารถในการสร้างใบเสร็จปลอมได้อย่างรวดเร็วและแนบเนียนนี้อาจนำไปสู่การฉ้อโกงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลอมแปลงค่าใช้จ่ายเพื่อขอคืนเงิน หรือการตกแต่งเอกสารการเงินเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนทั่วไปจนถึงผู้ประกอบการต่างๆ ที่ตกเป็นเหลือของการถูกหลอกได้

Taya Christianson โฆษกของ OpenAI ระบุว่าภาพที่สร้างด้วย ChatGPT ทั้งหมดจะมี metadata ที่ระบุว่าเป็นภาพที่สร้างโดย AI นอกจากนี้ OpenAI ยังมีมาตรการตรวจสอบการละเมิดนโยบายและดำเนินการเมื่อพบการใช้งานที่ผิดกฎ อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด เนื่องจาก metadata สามารถถูกลบหรือแก้ไขได้

สมดุลระหว่าง AI และจริยธรรมในอนาคต

แม้ว่า OpenAI จะพยายามหาจุดสมดุลระหว่างนวัตกรรมและจริยธรรม แต่ความสามารถที่เพิ่มขึ้นของ AI ในการสร้างสลิปปลอมได้เสมือนจริงยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ในอนาคต บริษัทเทคโนโลยีและหน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้งานที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมให้ AI เป็นเครื่องมือที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

อ้างอิง: techcrunch

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำไมไทยโดนภาษีสหรัฐฯ 37% ? ภาษีตอบโต้จากทรัมป์ กระทบไทยอย่างไร สินค้าไหนเสี่ยงสุด ?

การประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการค้าไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ กว่า 180 ประเทศ แต่สำหรั...

Responsive image

ก้าวสู่ยุคใหม่ Intel โดย Lip-Bu Tan นำทัพพลิกโฉมองค์กร มุ่งสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมและผู้นำเซมิคอนดักเตอร์

ท่ามกลางความท้าทายในโลกเทคโนโลยี Intel เดินหน้าสู่ยุคใหม่ภายใต้การนำของ Lip-Bu Tan CEO คนใหม่ มุ่งเน้นวัฒนธรรมวิศวกรรม ฟื้นความเชื่อมั่นลูกค้า และพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อกลับสู่แ...

Responsive image

‘ฤทธา’ คือใคร ? ถอดรหัสบริษัทที่ใช้ผลงานพูดแทนตัวเอง

รู้จัก “ฤทธา” บริษัทรับเหมาก่อสร้างไทยที่ถูกพูดถึงมากที่สุดหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ กับผลงานที่รอดจากความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์...