ทุเรียน 80,000 ลูก คือโอกาสการเติบโตของสินค้าเกษตรไทย ผ่านแพลตฟอร์มของ Alibaba

จากความสำเร็จจากยอดจองทุเรียนไทยผ่าน Tmall ด้วยยอดจองทุเรียนรวมถึง 130,000 ลูก ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นยอดจองทุเรียนหมอนทองจากช่วงเวลาหนึ่งนาทีแรกของการเปิดจองถึง 80,000 ลูก เป็นการเปิดประตูสู่โอกาสการเติบโต ของสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มของ Alibaba

 

ความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยแรงสนับสนุนจากทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ และธุรกิจไทยผู้จัดหาทุเรียนคุณภาพสูงที่ผ่านการคัดเลือกโดย DITP  โดยความร่วมมือกับ Alibaba Group ในโอกาสนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคจีนที่มีขนาดใหญ่และมีความต้องการสินค้านำเข้าคุณภาพสูงหลากหลายประเภทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณจรินทร์ ศิริการ เจ้าของศูนย์กลางรับซื้อผลไม้ ซูเปอร์ฟรุต ไทยแลนด์ กล่าวว่า “เรามีการคัดเกรดทุเรียนก่อนที่จะส่งออก โดยพิจารณาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสีของเปลือก น้ำหนักที่เหมาะสม และระดับความสุก เราจะเลือกตัดทุเรียนที่สุกราว 70-80% เพื่อให้ทุเรียนสุกพร้อมรับประทานพอดีเมื่อส่งถึงประเทศจีน”

“กระบวนการการคัดเลือกทุเรียนคุณภาพสูงนั้น ต้องมีบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแต่ละขั้นตอน นับตั้งแต่การบำรุงดินไปจนถึงการตัดแต่งกิ่ง การคัดผลก่อนตัด และการขนส่ง ความต้องการสินค้าที่มากขึ้นจากตลาดจีนจะส่งผลดีกับธุรกิจของเราในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือโอกาสการทำงานที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับแรงงานในพื้นที่ เพื่อให้เรารับมือกับการเติบโตของตลาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” คุณจรินทร์ กล่าวเสริม

คุณบุญเรือง ประทุม เจ้าของสวนทุเรียนในตำบลเขาสระบาป อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี กล่าวเสริมอีกว่า “การปลูกทุเรียนให้ได้คุณภาพดีนั้น ต้องเริ่มจากการดูแลบำรุงดิน การให้ปุ๋ย การตัดดอก การคัดลูกติดต้น การแต่งกิ่ง และรอให้ทุเรียนแก่จัดพร้อมตัดจากต้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาราว 120 วัน”

“ความร่วมมือกับอาลีบาบา ซึ่งครอบคลุมถึงการเปิดตัวร้าน Flagship Store สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวไทยด้วยนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยสามารถนำเสนอสินค้าออกสู่ตลาดจีนได้โดยมีการลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

“ทุเรียนไทยถือเป็นสินค้าคุณภาพระดับพรีเมียมที่หาที่ไหนไม่ได้ในโลก และความร่วมมือนี้จะช่วยให้เราสามารถเพิ่มมูลค่าของทุเรียนและสินค้าเกษตรอื่นๆ จากประเทศไทยบนเวทีโลก ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับเกษตรกรและธุรกิจไทย”

ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในครั้งนี้  Alibaba จะร่วมส่งเสริมการขายทุเรียนมูลค่า 3 พันล้านหยวน (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ภายในระยะเวลา 3 ปี เพิ่มเติมจากสินค้าส่งออกของไทยชนิดอื่น ๆ   การเปิดซื้อขายทุเรียนล่วงหน้ามีระยะเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 - 19 เมษายน เพื่อขายทุเรียนคุณภาพพรีเมี่ยมพันธุ์หมอนทองและพันธุ์พวงมณี ซึ่งเป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงของไทย  จากการทำงานร่วมกันของผู้ส่งออกที่มีคุณภาพระดับแถวหน้าที่แนะนำโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และไช่เหนี่ยวแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ของ Alibaba  ทำให้สามารถส่งทุเรียนจากแหล่งผลิตในประเทศไทยไปยังประเทศจีนได้ภายใน 120 ชั่วโมง และสามารถจัดส่งถึงมือลูกค้าทั่วประเทศจีนได้ภายใน 24 ชั่วโมง

หลังการเปิดตัว Thai Rice Flagship Store บน TMall.com เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา  การขายข้าวซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย ซึ่งระบบกระจายสินค้าของ TMall จะกระจายข้าวไปยังหลากหลายช่องทาง รวมถึงการขายผ่านตู้ขายข้าวอัตโนมัติที่ตั้งอยู่ตามร้านในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในเครือข่ายของ RT-Mart ในประเทศจีน  นอกจากนี้ Tmall ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริโภคที่จะช่วยให้ผู้ค้าได้พัฒนาข้าวให้ตรงกับความชอบของผู้บริโภคชาวจีน เพื่อสร้างความสำเร็จจากการขายข้าวบนแพลทฟอร์ม TMall ซึ่งเห็นได้จากยอดขายข้าวไทยที่เติบโตมากกว่า 2เท่า ในปี 2560

“โปรโมชั่นขายทุเรียนล่วงหน้า เป็นเพียงก้าวแรกตามความมุ่งมั่นของเราที่มีมาอย่างต่อเนื่องที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย” นางสาวซู เฉีย ผู้อำนวยการอาวุโส TMall Fresh กล่าว “ในระยะแรกของความร่วมมือนี้ เราได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกระทรวงพาณิชย์และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการแนะนำผู้จัดหาสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพให้นำผลผลิตเหล่านี้มาขายบนแพลตฟอร์มของเรา และเรามีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจในรูปแบบนี้ต่อไป ไม่เพียงแต่ทุเรียนและข้าวเท่านั้น ยังรวมถึงสินค้าเกษตรอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อสร้างโอกาสเติบโตและความสำเร็จให้กับพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มของเรา”

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ทำความรู้จักโครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ 'อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ'

สรุปจากงานสัมมนา CEO Forum : Industrial Decarbonization under Thailand's Low Carbon City Program ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ World Bank มาเผยแนวทางสนับสนุนให้ลดการปล่อยคาร์บอนในภา...

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...