น่าจับตาไม่น้อยเมื่อ โตชิบา คอร์ปอเรชั่น (Toshiba Corporation) สนใจเปิดบริการ 'แบตเตอรี่ให้เช่าสำหรับมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้า' ในประเทศไทย โดยงานนี้จับมือกับ เนเจอร์นิกซ์ (naturenix inc.) บริษัทสตาร์ทอัพจากแดนปลาดิบ นำเสนอ SCiB™ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่โตชิบาผลิตขึ้น โดยชูจุดเด่นว่าเป็นแบตเตอรี่ที่ชาร์จซ้ำได้ถึง 20,000 รอบ ทนความร้อนสูง ลดความเสี่ยงจากไฟไหม้ได้ จึงช่วยเรื่องความยั่งยืนมากกว่าแบตเตอรี่แบรนด์อื่นๆ
เหตุที่โตชิบาเล็งทำตลาดในประเทศไทยเพราะโตชิบา เห็นโอกาสในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างและสามล้อ ซึ่งมีผู้ขับขี่จำนวนมาก โดยในอาเซียนมีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างและสามล้อประมาณ 35 ล้านราย ในกรุงเทพฯ ประมาณ 80,000 ราย โตชิบากับเนเจอร์นิกซ์จึงเริ่มศึกษาตลาด ด้วยการนำ SCiB™ เข้ามาให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารับจ้างราว 10 คันได้ทดลองใช้ในกรุงเทพฯ และติดตั้งสถานีชาร์จ 1 แห่ง ในย่านสุขุมวิทเพื่อเก็บข้อมูลด้านการใช้งานก่อน
อีกด้านคือ โตชิบา เห็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังคงเผชิญความท้าทายในการพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะประเด็นด้านความปลอดภัยของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบดั้งเดิม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้เมื่อได้รับแรงกระแทกทางกายภาพ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดด้านอายุการใช้งานที่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา ปัญหาเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นภายใต้สภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บวกกับการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุ ยิ่งส่งผลให้การนำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะได้ยาก
สอดคล้องกับการที่ ประเทศไทยตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608*1 โดยมีพลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจเพิ่มสูงถึง 600 กิกะวัตต์ชั่วโมง ภายในปี พ.ศ. 2578 แต่อย่างไรก็ตาม สัดส่วนความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์และรถสามล้อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ*2 กลับมีเพียงร้อยละ 2.8 เท่านั้น
การแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของแบตเตอรี่จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการยานยนต์ไฟฟ้า โตชิบาจึงร่วมกับพันธมิตรพัฒนาโซลูชันที่ล้ำสมัยเพื่อลดข้อจำกัดของแบตเตอรี่ ก้าวข้ามอุปสรรคด้านสิ่งแวดล้อม และผลักดันให้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย พร้อมรองรับการใช้งานจริงภายใต้สภาพแวดล้อมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โตชิบามุ่งสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และส่งเสริมการใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานขั้นสูงอย่างแพร่หลาย เพื่อเพิ่มความยั่งยืนและความน่าเชื่อถือในภาคอุตสาหกรรมขนส่ง ด้วยแบตเตอรี่ SCiB™ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัย
ด้านการพัฒนาแบตเตอรี่ SCiB™ โตชิบาใช้เทคโนโลยีแอโนดลิเทียมไททาเนียมออกไซด์ (LTO) ซึ่งช่วยยกระดับความปลอดภัย ยืดอายุการใช้งาน และรักษาประสิทธิภาพได้เหนือกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบดั้งเดิมที่ใช้วัสดุคาร์บอน ทั้งยังมีความทนทานสูง ลดความเสี่ยงจากการลัดวงจรภายใน และผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมถึงรองรับการชาร์จและคายประจุได้มากกว่า 20,000 รอบ พร้อมอัตราการเสื่อมสภาพที่ต่ำ อีกทั้งสามารถชาร์จไฟจาก 0% เป็น 80% ได้ภายใน 6 นาที จึงช่วยลดเวลาหยุดทำงานของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้มาก
โตชิบาและพันธมิตรจึงร่วมพัฒนาโซลูชันที่ปลอดภัย โดยเน้นจุดเด่นด้านอายุการใช้งานที่ยาวนาน แบตเตอรี่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งจะสามารถยกระดับความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง
เล่าย้อนก่อนว่า ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 โตชิบาร่วมมือกับ เนเจอร์นิกซ์ (naturenix inc.) บริษัทเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากมหาวิทยาลัยชิมาเนะ ประเทศญี่ปุ่น และ วินดี อินเตอร์เนชั่นแนล (Windee International) บริษัทร่วมทุนด้านการบริการจัดการที่จอดรถในประเทศไทย จัดทำโครงการทดสอบบริการเช่าแบตเตอรี่ในรูปแบบสมัครสมาชิกสำหรับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้าในกรุงเทพฯ (ประกาศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567*3) โดยบริการนี้จะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่ล้ำสมัยที่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
Toshiba และ naturenix ร่วมลงทุนและบริหารจัดการ โดย Toshiba เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ SCiB™ ส่วน naturenix เป็นผู้ผลิตแพ็คแบตเตอรี่
Toshiba และ naturenix เปิดเผยว่า การทดสอบดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ สะท้อนถึงศักยภาพของแบตเตอรี่ SCiB™ ในการเป็นโซลูชันที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง
แม้ยังไม่มีโมเดลราคาที่ชัดเจน โตชิบาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
จะเห็นว่า แบตเตอรี่ SCiB™ มีศักยภาพในการช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบขนส่งในเมืองที่ยั่งยืนได้ แต่จะเจาะตลาดเมืองไทยได้มากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามกันต่อ!
*1: THAILAND’S FIRST BIENNIAL TRANSPARENCY REPORT, บทที่ 3.1
*2: งานศึกษาวิจัยโดย บริษัท เนเจอร์นิกซ์ (naturenix inc.)
*3: โตชิบาและเนเจอร์นิกซ์เปิดตัวโครงการการทดสอบบริการเช่าแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้าในกรุงเทพฯ
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด