ผ่านช่วง Mid-career กับ 6 คำถามที่ควรถามตัวเอง เมื่อชีวิตมาถึงครึ่งทางของการทำงาน

Mid-career

ถ้าชีวิตการทำงานเดินทางมาถึงจุดที่เพื่อนรอบๆ โต๊ะทำงานเรามีแต่คนเรียกเราว่า “พี่” ทำงานมาเป็นสิบปีแต่ก็ยังไม่แน่ใจว่ามาถูกทางไหม แล้วก็เริ่มสงสัยว่า สิ่งที่เราทำทุกวัน มันยังใช่อยู่หรือเปล่านะ และเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้นมาในใจ 

“นี่เราทำอะไรอยู่กันแน่?” 

“ยังโอเคกับสิ่งที่ทำอยู่ไหม?” 

“หรือเราหลงทางมาตั้งแต่ต้นแล้ว?”

ช่วงนี้แหละที่ใคร ๆ เรียกกันว่า Mid-Career เหมือนเข้าเลนกลางของทางด่วนชีวิต จะเลี้ยวก็ได้ จะตรงต่อก็ได้ หรือจะจอดพักก็ไม่ผิด นักวิชาการหลายคนบอกว่า นี่แหละ คือจุดที่การเติบโตที่แท้จริงจะเริ่มต้น เป็นโอกาสทองในการหยุดดูชีวิต ถอดบทเรียน และวางแผนบทถัดไปให้มันสอดคล้องกับตัวตนและความต้องการในตอนนี้

แต่ก่อนจะทำอะไร ลองหยุดถามตัวเองด้วย 6 คำถามนี้ดู อาจจะได้คำตอบที่พาไปต่อแบบมั่นใจกว่าเดิมก็ได้

6 คำถามที่ควรถาม เมื่อชีวิตเริ่มเข้าสู่ช่วง Mid-career แบบไม่รู้ตัว

1. อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้ายังไม่ได้ลองสิ่งนี้...จะเสียดายไหม?

Mid-career นี่แหละ จุดเริ่มต้นของอาการ “รู้งี้ เราน่าจะ…” ระยะยาว และถ้าอยากหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบนั้น ให้คุณลองคิดง่าย ๆ ว่า อีกสิบปีข้างหน้า ถ้ามองย้อนกลับมา แล้วเรายังไม่ได้เริ่มเรียนดนตรี/เปิดร้านเล็ก ๆ/เขียนหนังสือ/ย้ายเมือง ตัวเราเองจะเสียดายไหม?

ถ้าใช่ ก็อาจจะแปลว่า... ถึงเวลาเริ่มได้แล้ว เพราะบางอย่างไม่ได้รอให้พร้อม แต่รอให้เริ่มเท่านั้นแหละ

2. สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้...มันใช่เพราะเราชอบ หรือเพราะโลกบอกว่า 'ควร'

หลายคนอยู่ในช่วงกลางของชีวิตการทำงานแบบ “หมดไฟแต่ยังฝืนทำ” เพราะกลัวความไม่แน่นอน กลัวเริ่มใหม่ หรือกลัวสูญเสียบางอย่างไป ถึงแม้ภายนอกจะดูโอเค ทำงานเก่ง ได้รับการยอมรับ รายได้มั่นคงแต่ข้างในกลับรู้สึกเฉย ๆ เหนื่อยเรื้อรัง โดยไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร

นั่นอาจเป็นเพราะ สมัยวัยรุ่น เรามักเลือกเส้นทางจากเสียงรอบข้าง พ่อแม่บอกว่าน่าจะดี เพื่อนบอกมั่นคง สังคมบอกน่าเชื่อถือ จนเราลืมถามคำถามที่สำคัญที่สุดว่า “เราชอบมันจริง ๆ หรือเปล่า?”

บางทีถึงจุดนี้ มันอาจไม่ใช่เวลาที่ต้องถามว่า “งานนี้ดูดีไหม?” แต่ควรหันกลับมาถามว่า “งานนี้ยังทำให้ฉันรู้สึกมีแพสชั่นอยู่หรือเปล่า?” ลองนึกถึงช่วงเวลาที่เราทำอะไรแล้วรู้สึกมีพลัง หรืองานไหนที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองกำลัง ‘เป็นตัวของตัวเอง’ ที่สุด แล้วค่อย ๆ หาทางพาตัวเองกลับไปใกล้มันอีกครั้ง

3. สิ่งที่ฉันเก่ง... ฉันอยากเอามันไปทำอะไรต่อ ?

พอผ่านงานมาหลายแบบ เจอคนหลายแนว เราก็เริ่มมีสกิลเฉพาะตัวบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ในเรซูเม่ แต่มาจากประสบการณ์ชีวิตล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจคน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การสื่อสาร หรือแม้แต่แค่การเป็นผู้ฟังที่ดี

ของพวกนี้ถ้าเก็บไว้เฉย ๆ ก็อาจไม่เกิดอะไร ลองมองหาวิธีส่งต่อ เช่นการสอนคนรุ่นใหม่ ทำคอนเทนต์ แชร์ความรู้ หรือช่วยทีมให้เติบโต มันอาจเป็นสิ่งที่เติมเต็มชีวิตคุณและคนอื่นไปพร้อมกันเลยก็ได้

4. วันธรรมดาแบบที่อยากมี หน้าตาเป็นยังไง ?

Mid-career อาจไม่ใช่เวลาวางแผนห้าปีสิบปีแบบวัย 20 แล้ว แต่เป็นช่วงที่เรารู้ว่า “ความสุขไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายแสนไกล แต่อยู่ในวันธรรมดาๆ ที่ดี” 

ดังนั้น คุณอาจจะเริ่มต้นด้วยการนึกภาพวันธรรมดาที่อยากมี เช่น ตื่นมากี่โมง อยู่กับใคร ทำงานที่ไหน ใช้เวลากับอะไร เพราะ Mid-career ไม่ได้แปลว่าเราต้องไล่ตามความสำเร็จแบบเดิม ๆ แต่อาจหมายถึงการออกแบบชีวิตให้สอดคล้องกับใจเราจริง ๆ

5. อะไรคือสิ่งที่เมื่อก่อนยอมได้ แต่ตอนนี้ไม่อยากยอมอีกแล้ว ?

Mid-career มันทำให้เราเริ่มรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ "แลกแล้วคุ้ม" กับอะไรที่ "พอเถอะ ไม่เอาแล้ว"

คุณอาจมีหลายอย่างที่อยากพอ เช่น พอแล้วกับการโอทีทั้งคืน พอแล้วกับงานที่กินพลังจนไม่เหลือให้ตัวเอง หรือพอแล้วกับการแกล้งเป็นคนเก่งเพื่อเอาตัวรอด ตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องงานแล้ว แต่คือเรื่องชีวิตทั้งหมดที่อยากมีสมดุลให้มันอยู่ได้แบบมีความสุข คุณอาจจะต้องลองถามใจให้ชัด แล้วเลือกทางที่ไม่ฝืนใจ

6. มีอะไรในชีวิตตอนนี้ที่ดีขึ้นบ้าง ?

เราอาจไม่ได้สดใสเหมือนตอนวัย 25 แต่เรามีสติ มีประสบการณ์ และรู้จักตัวเองมากขึ้นเยอะ Mid-career ทำให้เราเลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วเริ่มเทียบกับตัวเองในเวอร์ชันเมื่อวาน คำถามนี้จะช่วยให้เราไม่ลืมว่า แม้บางอย่างจะหายไป แต่อีกหลายอย่างก็เพิ่งเริ่มเติบโต

ชีวิตช่วง Mid-career ไม่ใช่ช่วงที่น่าเบื่อหรือหมดไฟอย่างที่หลายคนกลัว แต่มันคือช่วงที่เรามีทั้งทักษะ ประสบการณ์ และสิทธิ์เต็มที่ในการ “เลือกใหม่” ให้ชีวิตมันตรงใจมากขึ้น ลองใช้จังหวะนี้เป็นช่วงรีเฟรชชีวิต แล้วถามตัวเองว่า ฉันอยากใช้ครึ่งหลังของชีวิตทำอะไร

อ้างอิง: hbr.org

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

3 สัญญาณ 'ผู้นำยอดแย่' ในที่ทำงาน

ในยุคนี้ การเป็นหัวหน้าไม่ใช่แค่ “สั่งให้ทำ” แต่ต้องเข้าใจคน เข้าใจอารมณ์และความคิด หากยังใช้วิธีบริหารแบบเดิม ๆ อยู่ นั่นอาจเป็นสิ่งที่กำลังฉุดรั้งทีมเอาไว้ได้ และต่อไปนี้คือ 3 สั...

Responsive image

5 เคล็ดลับสื่อสารให้เก่งเหมือนบารัค โอบามา

ตอนที่โอบามาเป็นนักเคลื่อนไหวใหม่ ๆ เขาเคยประหม่าและพูดผิดพลาดต่อหน้าคนมากมาย แต่จากวันนั้น เขาค่อย ๆ พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นนักพูดที่ใคร ๆ ก็อยากฟัง และนี่คือ 5 เทคนิคที่โอบามาใช้ใน...

Responsive image

ถอดบทเรียนจาก Steve Jobs ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจด้วยแนวคิด “ไม่ลดคน ไม่ตัดงบ”

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2008 หลายบริษัทเลือกที่จะลดขนาดองค์กร ปลดพนักงาน และตัดงบประมาณเพื่อลดความเสี่ยง แต่ Steve Jobs ผู้ร่วมก่อตั้ง Apple กลับสวนกระแส ด้วยแนวคิดที่ว่า “จะเดินหน้...