Precision Medicine ยาที่ออกแบบมาเพื่อ “คุณคนเดียว” กำลังเป็นจริง

ถ้าสมมติคุณป่วยเป็นโรคชนิดหนึ่ง แต่แทนที่จะได้ยาที่คิดค้นมาเพื่อ “คนทั่วไป” คุณกลับได้รับยาที่ออกแบบมาเพื่อ “ร่างกายของคุณคนเดียว” แม้จะฟังดูเกินจริง แต่นี่คือทิศทางของโลกการแพทย์ในวันนี้

ในเวที The Genomic Revolution ที่งาน GITEX Asia 2025 ณ สิงคโปร์ นักวิจัย ผู้นำบริษัท Biotech และแพทย์ผู้รับการรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ได้ขึ้นเวทีถกเถียงกันถึงสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าวงการแพทย์ไปตลอดกาล

Precision Medicine เมื่อยาที่ใช้กับคุณ...ออกแบบมาเพื่อคุณคนเดียวเท่านั้น

ทุกปี โลกเสียเงินกว่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปกับ “ยาที่อาจจะไม่เวิร์ก” เพราะมันถูกออกแบบมาเพื่อใครก็ได้ ซึ่ง Precision Medicine คือสิ่งที่มาแก้โจทย์นี้ ยาและการรักษาที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคล ทำให้แพทย์รู้ว่า ร่างกายคุณตอบสนองต่ออะไรได้ดีที่สุด แล้วเลือกยาที่แม่นยำที่สุดให้ตั้งแต่ต้น

ดร. Hari Prasad ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารโรงพยาบาลรายใหญ่ของอินเดีย เล่าว่าเขาเคยป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่รอดชีวิตได้โดยไม่ต้องใช้เคมีบำบัดเลย เพียงเพราะแพทย์ตรวจพบยีนผิดปกติ “ผมรอดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพราะหมอเลือกวิธีรักษา ตามยีนของผม ไม่ใช่แบบที่ใช้กับทุกคน”

แต่ถึงแม้มันจะดีขนาดนี้ แต่เชื่อไหมว่ามีผู้คนเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เคยตรวจยีนส์ นั่นอาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันทำได้แล้ว หรือถ้ารู้ ก็คิดว่าราคาแพงเกินเอื้อม ซึ่ง ดร. Lanz Chan ซีอีโอจากบริษัท EVES Energy บอกว่า ปัจจุบันราคาการตรวจจีโนมลดลงมาก และหากเทคโนโลยี “Cell & Gene Therapy” เข้าสู่ระบบดูแลผู้ป่วยข้างเตียง (bedside treatment) แทนการส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ในแล็บ ราคาก็จะลดลงอีกมหาศาล

AI จะกลายมาเป็น ‘ผู้ช่วยคนสำคัญ’ ของการแพทย์แบบนี้

ในโลกที่มีข้อมูลทางการแพทย์จำนวนมหาศาลในแต่ละวัน ไม่มีมนุษย์คนใดอ่านทั้งหมดได้ แต่นั่นคือจุดแข็งของ AI

เพราะ AI จะเข้ามาทำหน้าที่ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม วางแผนวิจัย สร้างโมเดลจำลองผลลัพธ์ ทำให้การพัฒนายาเร็วขึ้น 10 เท่าภายในเวลาไม่กี่ปี ด้าน ดร. Vishal Doshi จาก AUM Biosciences เน้นว่า “AI ต้องเป็น Augmentative Intelligence ไม่ใช่ Artificial Intelligence เพราะมนุษย์ยังต้องเป็นผู้ตั้งคำถามและตัดสินใจ”

นอกจากนี้ Dr. Lanz Chan ยังชี้ว่า Biotech ในอีกมุมหนึ่งก็มีเรื่องที่ชวนทึ่งไม่แพ้ยีนและยา คือ “สาหร่าย” เพราะสาหร่ายที่เราเห็นในทะเลหรือบนจานอาหารกำลังกลายเป็นพระเอกตัวใหม่ของวงการ Biotech 

ในโลกของสาหร่าย มีพันธุ์ไมโครแอลจีเล็ก ๆ นับล้านสายพันธุ์ ที่ยังไม่มีใครเคยศึกษาลึกจริงจัง EVES กำลังใช้ AI วิเคราะห์พันธุกรรมของสาหร่ายเหล่านี้ เพื่อค้นหาสารสำคัญที่อาจใช้เป็น

  • ยารักษาโรค
  • สารต้านอักเสบ
  • สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ใช้ในอาหารเสริม

ซึ่งทาง Dr. Lanz เผยว่า ในตอนนี้ขนาดบริษัทใหญ่อย่าง Amazon ก็ยังอยากร่วมมือเพื่อสร้าง “ฐานข้อมูลชีวภาพของสาหร่าย” ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะในวันที่ยาและสารออกฤทธิ์จากแล็บยังมีราคาสูง ธรรมชาติอาจเป็นคลังยาแห่งอนาคตที่ถูกกว่า เร็วกว่า และยั่งยืนกว่า

แล้วจะทำยังไงให้คนทั้งโลกเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ ?

คำถามใหญ่ของวงการ Biotech และ Precision Medicine ไม่ใช่แค่ “พัฒนาเทคโนโลยีได้แค่ไหน” แต่คือ... “ใครได้ใช้มันบ้าง ?”

เพราะความจริงก็คือ วันนี้ยาใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีทางพันธุกรรมขั้นสูงยังกระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ หรือประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น ดังนั้น การ “Democratize” เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เข้าถึงทุกคน ไม่ใช่แค่การแจกทุน หรือขอความช่วยเหลือจากรัฐ แต่มันคือการเปลี่ยนวิธีคิดของประเทศทั้งระบบ

Dr. Lanz พูดไว้ชัดว่า

ประเทศไหนอยากมีเทคโนโลยีของตัวเอง ต้องสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ‘นวัตกรรม’ ไม่ใช่เงินทุนแบบให้เปล่า

เพราะในระบบนิเวศของนวัตกรรม กว่าจะมีสัก 10 บริษัทที่สำเร็จ อาจต้องมาจาก 90 บริษัทที่ล้มก่อน แต่สิ่งสำคัญคือ ความรู้จากการล้มเหลวเหล่านั้นจะไม่สูญเปล่า กลับจะกลายเป็น “ต้นทุนทางปัญญา” ที่ทำให้ประเทศมี Know-how, IP, และแรงผลักดันของตัวเอง โดยไม่ต้องรอเทคโนโลยีจากต่างชาติมาอนุญาตให้ใช้ ซึ่งจุดนี้คือหัวใจของการ Democratize อย่างแท้จริง 

ข้อมูลจาก Session: Panel Discussion | The Genomic Revolution – Cell & Gene Therapies, BioTech, mRNA, and Precision Medicine ในงาน GITEX Asia 2025

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

ADAM เทคโนโลยีคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย ฉีดครั้งเดียว อยู่ได้นานถึง 2 ปี

ADAM เทคโนโลยีคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย ฉีดครั้งเดียว ป้องกันได้ยาวนานถึง 2 ปี ไม่ใช้ฮอร์โมน ปลอดภัยสูง ทดลองแล้วเห็นผลนาน 24 เดือน พร้อมลุ้นเปลี่ยนอนาคตการคุมกำเนิดของผู้ชาย...

Responsive image

Microsoft ชี้ทักษะ "บริหาร AI Agent" คือตั๋วรอดสู่ยุค Frontier Firm ที่ AI คือเพื่อนร่วมงาน

โลกการทำงานกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยพลังของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือ แต่กำลังก้าวสู่การเป็น "ผู้ช่วยอัจฉริยะ" และ "เพื่อนร่วมงานดิจิทัล" รายงานล่าสุด Work ...

Responsive image

‘RepliBench’ เครื่องมือใหม่จากสหราชอาณาจักร ทดสอบทักษะ AI ผลิตซ้ำโมเดลตัวเอง

RepliBench จาก UK AI Safety Institute เปิดเผยผลทดสอบ AI โคลนตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ จุดประเด็นความเสี่ยงใหม่ต่อความปลอดภัยไซเบอร์ทั่วโลก...