รู้จัก Sahabat AI สัญชาติอินโดฯ น้องใหม่จากค่าย GoTo

ลองนึกภาพ AI ที่ไม่ได้แค่พูดภาษาอังกฤษ แต่ยังเข้าใจภาษา วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของคนอินโดนีเซีย นี่คือสิ่งที่ GoTo บริษัทเทคโนโลยีใหญ่จากอินโดนีเซียกำลังพัฒนาในชื่อ Sahabat - AI ที่มีความหมายว่า “เพื่อน” ที่น่าสนใจคือ  GoTo ตัดสินใจเปิด Sahabat AI เป็น Open Source  

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมบริษัทถึงยอมปล่อยให้ใช้ฟรี? ซีอีโอของ GoTo บอกว่า การเปิด Sahabat AI เป็น Open Source ไม่ใช่แค่เรื่องของการให้ใช้ฟรี แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศ AI ที่แข็งแรง ในอินโดนีเซีย ซึ่งพวกเขามองว่า Sahabat AI ไม่ใช่แค่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงพันธมิตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ เช่น Nvidia, Indosat หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยต่างๆ

ซึ่งการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เป็นส่วนสำคัญ เพราะนักศึกษาจะได้ฝึกงานและลงมือสร้าง AI จริงๆ โดยไม่ต้องเรียนแค่ทฤษฎี พอกลับไปเรียนก็จะมีความรู้ที่พร้อมใช้งาน และบางมหาวิทยาลัยอย่าง ITB ในบันดุงยังมีแผนจะใช้ Sahabat AI เป็นโมเดลหลักในการสอนนักศึกษาแทนการใช้โมเดลจากต่างประเทศในปีหน้า

การพัฒนา Sahabat AI ยังช่วยให้ทีมวิศวกรของ GoTo เข้าใจ AI มากขึ้น ไม่ใช่แค่รู้วิธีใช้ แต่ยังเข้าใจภายในอย่างแท้จริง

เปิดให้ใช้งานแบบ Open Source

นอกจากนี้ การเปิดให้ใช้งานแบบ Open Source ยังตอบโจทย์หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการระบบ AI ที่สามารถควบคุมได้เอง ไม่ต้องส่งข้อมูลที่อาจเป็นความลับหรืออ่อนไหวออกไปต่างประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

สอน Sahabat AI ให้เข้าใจคนอินโดนีเซีย

การพัฒนา AI ให้เข้าใจบริบทของอินโดนีเซียไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านขั้นตอนหลักๆ ดังนี้:

  1. สอนพื้นฐาน (Pre-training): เปรียบเหมือนการส่ง AI ไปเรียนชั้นประถม เพื่อให้เข้าใจภาษา วัฒนธรรม ค่านิยม และวันสำคัญของอินโดนีเซีย โดยเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมหาศาล ขั้นตอนนี้ใช้ทรัพยากรสูงและมีค่าใช้จ่ายมากที่สุด เหมือนการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงก่อนลงสนามจริง
  2. ฝึกทักษะเฉพาะ (Fine-tuning): หลังจากที่เข้าใจพื้นฐานแล้ว ก็ต้องฝึก AI ให้สามารถทำงานเฉพาะทาง เช่น การสรุปบทความ หรือการโต้ตอบแบบมนุษย์ และที่สำคัญคือการเข้าใจภาษาถิ่นต่างๆ เช่น ภาษาชวา และซุนดา
  3. ทดสอบความเก่ง (Evaluation): การทดสอบ Sahabat AI เทียบกับ AI ตัวอื่นๆ โดยเน้นวัดผลในบริบทของอินโดนีเซีย เพื่อให้มั่นใจว่า Sahabat AI เก่งที่สุดในบ้านตัวเอง 

การใช้งาน Sahabat AI ในชีวิตจริง

GoTo ได้นำ Sahabat AI ไปใช้ในหลายๆ ด้าน เช่น:

  1. ยืนยันตัวตน (KYC): ตอนนี้สามารถยืนยันตัวตนได้เร็วมากในไม่ถึง 10 วินาที เพียงแค่ถ่ายรูปใบหน้าและบัตรประชาชน ระบบ AI ก็ตรวจสอบและป้องกันการปลอมแปลงได้ทันที
  2. แปลงเมนูจากกระดาษเป็นดิจิทัล: GoFood สังเกตเห็นว่า ร้านค้าต้องพิมพ์เมนูทีละรายการเลยทำแอปที่ให้ร้านค้าแค่ถ่ายรูปเมนูจากกระดาษ แล้ว Sahabat AI จะแปลงเป็นเมนูดิจิทัลได้ทันที
  3. สั่งงานด้วยเสียง: GoTo มองว่าในอนาคตเราจะใช้เสียงในการสั่งงานแอปมากขึ้น การที่ Sahabat AI ทำงานในอินโดนีเซียจะช่วยให้การประมวลผลคำสั่งเสียงเป็นไปอย่างรวดเร็วและตอบสนองทันที ที่สำคัญคือไม่ต้องส่งข้อมูลเสียงไปที่ต่างประเทศ ทำให้เพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน

ถึงแม้ Sahabat AI จะเก่งในบริบทอินโดนีเซีย แต่ GoTo ยังไม่สามารถมาแทน AI ระดับโลกได้ทั้งหมด กลยุทธ์ของ GoTo คือเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะกับงาน ถ้าเป็นงานที่ต้องการความเร็ว หรือเข้าใจภาษาท้องถิ่น ก็จะใช้ Sahabat AI แต่ถ้างานนั้นซับซ้อน ก็ยังคงใช้ AI เชิงพาณิชย์จากต่างประเทศอยู่

สรุปได้ว่า Sahabat AI ไม่ใช่แค่โปรแกรม AI แต่เป็นความพยายามของ GoTo ในการสร้างรากฐานเทคโนโลยี AI ที่แข็งแกร่งให้กับอินโดนีเซีย การเปิดเป็น Open Source ช่วยสร้าง ชุมชนแห่งการเรียนรู้ ตั้งแต่นักศึกษาไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐ และช่วยให้สามารถพัฒนาโปรดักส์ที่ตอบโจทย์คนอินโดนีเซียได้

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

นักวิทยาศาสตร์สร้าง Brain Map ละเอียดที่สุดในโลกจากสมองหนู

ค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ นักวิทย์สร้างแผนที่สมองที่ละเอียดที่สุดจากสมองหนู ข้อมูลทะลักกว่า 500 ล้านจุด เชื่อมโยง AI-แพทย์อนาคต...

Responsive image

ถอดบทเรียน 3 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ไทย-ศรีลังกา-บังกลาเทศ จากงานสัมมนา BIMSTEC Young Gen Forum

สรุปจาก 'Innovation & Growth Drivers' หัวข้อเสวนาจากงาน BIMSTEC Young Gen Forum : Where the Future Meets ที่มีผู้นำรุ่นใหม่จาก 3 ประเทศ BIMSTEC มาเล่าวิสัยทัศน์ ความท้าทาย บนเวทีสั...

Responsive image

คืนชีพ Dire Wolf หมาป่าที่สูญพันธ์ไปเมื่อ 12,500 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ทำได้อย่างไร ?

Dire Wolf คือชื่อของหมาป่าสายพันธุ์หนึ่งซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อราว 12,500 ปีก่อน และในวันนี้ พวกมันได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งอย่างน่าทึ่ง ในฐานะที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Colossal Bioscie...