ทำยังไง ถ้าไม่ได้เป็น ‘ลูกรัก’ เจ้านาย

‘ระบบลูกรัก’ ที่ฝังรากลึกในองค์กร เป็นอีกหนึ่งปัญหาช้างในห้อง (Elephant In The Room) ปัญหาใหญ่ที่คนส่วนใหญ่รับรู้ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง หรือพูดไม่ได้

การศึกษาชิ้นหนึ่งเผยว่า 56% หรือมากกว่าครึ่งของผู้บริหารมี ‘คนโปรด’ ในใจอยู่แล้ว ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะให้เลื่อนตำแหน่ง ก่อนที่จะมีการประเมินอย่างเป็นทางการซะอีก ปัญหาการเล่นพรรคเล่นพวกนี้ยังรุนแรงมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด เมื่อต้องทำงานจากระยะไกล พนักงานบางส่วนจึงเกิดความกังวลว่า เพื่อนที่ทำงานใกล้ชิดเจ้านายมากกว่าจะได้รับโอกาสที่ดีกว่า

แม้จะเป็นปัญหาที่บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน สร้างความแตกแยกในทีม และลดประสิทธิภาพการทำงาน แต่ปัญหาระบบอุปถัมภ์นั้นไม่เคยได้รับการแก้ไขแบบถอนรากถอนโคน เพราะมันฝังรากลึกอยู่ในสังคมจนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนระดับผู้นำองค์กรเองเป็นคนสร้างพฤติกรรมดังกล่าวซะเอง ผู้น้อยใต้บังคับบัญชายิ่งกลัวที่จะพูด

ถ้าคุณเป็นผู้น้อยคนนั้นที่กำลังเจอปัญหาลูกรักเจ้านาย แล้วอึดอัดใจ ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง วันนี้ Techsauce มีวิธีดีๆ มาแชร์ให้อ่านกัน

จิตปล่อยวาง 

การถูกมองข้าม รู้สึกไม่มีใครยอมรับ หรือไม่ได้รับโอกาสดีๆ เหมือนลูกรักหัวหน้าคนนั้น แน่นอนทุกคนต้องรู้สึกขุ่นเคืองใจ รู้สึกไม่ปลอดภัยในหน้าที่การงาน แต่ถ้าเราปล่อยให้จิตใจสับสนว้าวุ่น และสร้างพลังลบรอบตัวตลอดเวลา มันอาจส่งผลเสียตามมาได้

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเก็บคำพูดแย่ๆ เพียง 1 ประโยคของเจ้านายไว้ในหัว ฝังใจจนเลิกคิดไม่ได้ ในขณะที่หากมีคำชื่นชมดีๆ เข้ามา เราอาจจะปัดมันทิ้งไม่สนใจ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเราอยู่ในสภาวะเครียดหรือรู้สึกถูกคุกคาม และมีแนวโน้มที่จะสร้างเกลียวอารมณ์เชิงลบ (Negative Spiral) ที่ทำให้เราเริ่มปิดกั้นตัวเอง หรือเผลอทำพฤติกรรมไม่ดีใส่เจ้านายและเพื่อนร่วมงาน

เพื่อสุขภาพกายใจของเรา และเพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดี มันจึงสำคัญที่เราต้องควบคุมสิ่งที่รู้สึกไว้ เริ่มจากการเข้าใจที่เรารู้สึก เมื่อรู้แล้วว่ารู้สึกอย่างไรก็ให้เข้าใจว่าเหตุผลของมันคืออะไร ทำไมเราต้องคิดหรือรู้สึกแบบนั้น โดยไม่ต้องรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิด เพื่อจัดการอารมณ์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สุดท้ายแล้วพยายามอย่าเก็บมาเป็นเรื่องส่วนตัว แม้ระบบลูกรักจะไม่ดี แต่หัวหน้าอาจทำไปเพราะมีอคติแบบแอบแฝง (Implicit Bias) ที่ทำไปโดยไม่รู้ตัวได้

เรียนรู้จากลูกรักเจ้านาย 

เจ้านายรักใครชอบใครก็ต้องมีเหตุผล เราก็เรียนรู้จากลูกรักซะเลย ทิ้งความขุ่นเคืองใจไว้ข้างหลังก่อน และคอยสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานที่เจ้านายชอบ เค้าทำงานยังไง เค้าขายตัวเองยังไง (แม้เราจะรู้สึกว่าเค้าเอาหน้าก็ตาม) คอยทำงานประกบเค้าเลย ถ้าเค้าสนิทกับเรา เป็นไปได้ว่าเจ้านายอาจจะเห็นเราอยู่ในสายตามากขึ้น

นอกจากสังเกตลูกรักแล้ว ให้ลองสังเกตเจ้านายด้วย นายเราชอบคนแบบไหน ชอบคนที่สนใจเรื่องอะไร แล้วเราจะทำยังไงให้ดูโดดเด่นในสายตาเจ้านายและเพื่อนร่วมงานได้บ้าง

พูดตรงๆ ไปเลย 

อย่ากลัวที่จะบอกปัญหาตรงๆ เพราะไม่มีใครอ่านใจเราได้ ลองถามเจ้านายเลยว่า พวกเขาคาดหวังอะไรในตัวคุณ มีอะไรที่เจ้านายอยากให้คุณปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้อีกวิธีคือการขอฟีดแบ็คเรื่องงานบ่อยๆ ทั้งนี้เพื่อให้คุณและเจ้านายได้สื่อสารกันมากขึ้น ถึงแม้จะได้รับคำติบ้าง แต่ก็เป็นโอกาสที่คุณจะได้รู้ว่าคุณต้องปรับปรุงอะไร

เอาตัวเองไปโดนแสงบ้าง 

ไม่ใช่ให้ไปตากแดด แต่ให้เอาความเก่งของตัวเองออกมาจากมุมมืดที่ที่ผ่านมานายไม่เคยเห็น เพราะเราอาจจะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้ออกหน้าออกตา หรือใกล้ชิดเจ้านาย เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้ที่จะแสดงถึงคุณภาพของเราบ้าง เช่น ในประชุมรายสัปดาห์ เราอาจจะใส่ความสำเร็จที่ตัวเราหรือทีมเราทำลงไปให้ที่ประชุมเห็น หรือแชร์ให้เจ้านายแบบส่วนตัว อธิบายว่าเราทำอะไรบ้าง และองค์กรได้ผลลัพธ์เชิงบวกอะไร

ไม่ง้อ หาโอกาสใหม่ให้ตัวเอง 

ถ้าเจ้านายไม่เคยให้คำแนะนำ ไม่เคยมอบโอกาสให้ เราก็ไม่ง้อ แสวงหาโอกาสด้วยตัวเองเลย เช่น เข้าร่วมโปรเจกต์หรือการประชุมสัมมนาที่จะเปิดโอกาสให้เราเจอเพื่อนร่วมงานใหม่ๆ หรือผู้นำจากแผนกหรือบริษัทอื่น

นอกจากนั้นอาจมองหา Mentorship program ที่เหมาะกับเรา เพื่อจะได้ค้นหาแนวทางต่อไปในสายอาชีพ เราอาจได้สร้างความสัมพันธ์กับผู้นำที่มีแพชชั่นและเป้าหมายในอาชีพสอดคล้องกับเรา การพาตัวเองไปรู้จักคนใหม่ๆ เรียนรู้ทักษะใหม่ จะช่วยให้เราไม่จมปลักอยู่กับความผิดหวังที่เจอในออฟฟิศตัวเอง และมองเห็นโอกาสที่จะก้าวต่อไปง่ายขึ้น

สุดท้าย จะให้เราคิดบวกตลอดเวลาในขณะที่เจ้านายยังมีลูกรักอยู่ตลอดคงเป็นไปได้ยาก ถ้าเราลองทำทุกข้อแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น ให้ตัดสินใจก้าวออกมาจากจุดนั้น อย่างน้อยเราก็ได้มีประสบการณ์ที่ทำให้โตขึ้นจากวันร้ายๆ นี้ มีประวัติการทำงานที่สวยหรูที่เราพยายามพรีเซนต์ตัวเอง และมีเพื่อนใหม่ๆ จากการออกไปรู้จักคนให้มากขึ้นแล้ว 

แปลและเรียบเรียงจาก : Harvard Business Review 

ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด

No comment

RELATED ARTICLE

Responsive image

อว. ก้าวล้ำ! เปิดตัว AI ตรวจสอบหลักสูตรมหาวิทยาลัย ยกระดับมาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังก้าวสู่มิติใหม่ของการประกันคุณภาพการศึกษา ประกาศนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานหลักสูต...

Responsive image

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ส่งออกไทยอาจเสียหาย 4 แสนล้านบาท จากภาษีตอบโต้ 37%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ประเมินถึงสถานการณ์ที่สหรัฐญ ขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับไทยในอัตรา 37% ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 25% ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศร...

Responsive image

ไทย–อินเดีย จับมือสู่การเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”

ไทย-อินเดียยกระดับสัมพันธ์สู่ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ประกาศความร่วมมือ 6 ฉบับ ครอบคลุมเศรษฐกิจ ดิจิทัล วัฒนธรรม รับมือแรงสั่นสะเทือนจากนโยบายภาษีสหรัฐฯ และเสริมบทบาทภูมิรัฐศาสตร์ใ...