“สุขภาพ” ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโรงพยาบาล
ในขณะที่หลายประเทศยังคงต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิงคโปร์กลับกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่สามารถให้การดูแลสุขภาพครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศได้ ด้วยงบประมาณเพียง 4% ของ GDP ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ แต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากการ “ประหยัด” หากเกิดจากการ “ออกแบบระบบสุขภาพใหม่” ตั้งแต่ฐานราก
โดยเฉพาะแนวคิดที่มองว่าสุขภาพ ไม่ได้เกิดแค่ในโรงพยาบาล แต่เกิดขึ้นจริงในโลกของชีวิตประจำวัน ที่บ้าน ที่ทำงาน ในตลาด และในชุมชน
Prof. Lee Chien Earn รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SingHealth อธิบายว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ไม่ใช่ในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้คือ "Social Determinants of Health" ซึ่งเป็นปัจจัยด้านสังคมที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพมากกว่าการรักษาเสียอีก
SingHealth มองสุขภาพเป็น “การเดินทาง” (Journey) แทนที่จะเป็น “เหตุการณ์” (Event) นั่นหมายถึงว่า ทุกคนมีจุดเริ่มต้นสุขภาพต่างกัน ด้าน Prof. Lee Chien Earn อธิบายว่า คนเราไม่ได้ตัดสินใจดูแลสุขภาพทันที ทุกคนมีจุดเริ่มต่างกัน บางคนยังไม่รู้ว่าป่วย บางคนรู้แต่ยังไม่ลงมือทำ
SingHealth จึงสร้างแผนสุขภาพส่วนบุคคลชื่อว่า H.A.P.P.Y. (Health Action Plan Personalized for You) โดยออกแบบให้เหมาะกับชีวิตแต่ละคน ไม่ใช่แค่ให้คำแนะนำ แต่มีเครื่องมือดิจิทัลช่วยติดตาม เช่น แอปที่เลือกคอร์สออกกำลังกายได้เอง หรือวางแผนโภชนาการเอง
SingHealth ออกแบบ “H.A.P.P.Y.” หรือแผนสุขภาพเฉพาะบุคคล ที่ไม่ใช่แค่แนะนำให้ไปตรวจคัดกรอง แต่รวมถึงการวางแผนดูแลด้านการแพทย์และสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างเครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยให้คนดูแลตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน โดยมีกลยุทธ์คู่อย่าง High Touch & Light Touch
แต่อย่างที่ Prof. Lee ชี้ให้เห็น คนในสังคมมีระดับความพร้อมแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีทั้งกลยุทธ์แบบ “High Touch” และ “Light Touch” ทำงานควบคู่กันไป คนที่พร้อมดูแลตัวเองอยู่แล้วสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลได้อย่างอิสระ แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ หรือคนที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี ก็ยังคงต้องการการลงพื้นที่ การสนับสนุนแบบตัวต่อตัว และการดูแลจากเจ้าหน้าที่ในชุมชน เช่น Community Nurse หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในย่านที่อยู่อาศัย
ในหนึ่งปี Light Touch เข้าถึงคนได้มากกว่า 100,000 คน ส่วน High Touch ดูแลเชิงลึกได้ 4,000 คน นอกจากนี้การดูแลสุขภาพประชากรต้องเชื่อมโยงกันทั้งระดับประเทศ (Macro), ระดับองค์กร (Meso), และระดับชุมชน (Micro)
โดยแต่ละคลัสเตอร์รับผิดชอบต่อประชากรในพื้นที่ของตนอย่างครบวงจร ไม่ว่าคนนั้นจะมาโรงพยาบาลหรือไม่ก็ตาม และแต่ละระดับยังต้องทำงานร่วมกันผ่านโมเดล “Flow & Link” ที่ทำให้การรักษาสามารถไหลเข้าออกระหว่างโรงพยาบาล ชุมชน และบ้านได้อย่างไร้รอยต่อ
ระบบสุขภาพแบบใหม่ของสิงคโปร์ไม่ได้แค่เพิ่ม “เครื่องมือดิจิทัล” แต่สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลที่เชื่อมโยงทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน ตั้งแต่โรงพยาบาล คลินิกภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ไปจนถึงแอปสุขภาพสำหรับประชาชน
National Electronic Health Record ที่เป็นเหมือนแกนกลางของข้อมูลสุขภาพทั้งประเทศ ช่วยให้แพทย์ พยาบาล และผู้ให้บริการสุขภาพในระดับต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้แบบ Real-Time ลดการทำงานซ้ำซ้อน ลดความเสี่ยงในการรักษาที่ไม่สอดคล้องกัน และเสริมประสิทธิภาพให้การดูแลผู้ป่วยในทุกระดับมีความต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ยังมองว่าสุขภาพ ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับการเข้าถึงบริการหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน หรือที่เรียกกันว่า ทุนทางสังคม (Social Capital) ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมสุขภาพในชีวิตจริง
เพื่อให้เข้าใจสิ่งนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น SingHealth จึงร่วมกับ Singapore Land Authority พัฒนาเครื่องมือที่ชื่อว่า Living Asset Map หรือแผนที่ที่ไม่ได้บอกแค่ว่า ในพื้นที่ไหนมีคลินิก ศูนย์ชุมชน หรือสวนสาธารณะอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ลงลึกไปถึงว่า คนในพื้นที่นั้นมีพฤติกรรมอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน พื้นที่ไหนที่คนมักรวมตัวกันทำกิจกรรม หรือพื้นที่ไหนที่ยังไม่มีการใช้งานร่วมกันเท่าที่ควร
การมีแผนที่แบบนี้ช่วยให้รัฐและชุมชนสามารถ “ออกแบบกิจกรรมสุขภาพ” ได้ตรงจุดมากขึ้น เช่น ถ้าในบางชุมชนมีศูนย์กิจกรรมอยู่แล้ว แต่คนแทบไม่ไปใช้งาน ก็อาจต้องเปลี่ยนกิจกรรมให้ตอบโจทย์ความสนใจของชาวบ้านมากขึ้น หรือสร้างรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงผู้สูงอายุกับคนรุ่นใหม่ได้
แทนที่จะสร้างสถานที่ใหม่อย่างเดียว สิงคโปร์เลือกจะทำให้สถานที่ที่มีอยู่แล้วมีชีวิต เพื่อให้คนในชุมชนได้เชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพในระยะยาว เช่น การออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เดินเล่น พบปะ หรือแลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิต ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจโดยตรง
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า สำหรับสิงคโปร์ เทคโนโลยีไม่ใช่แค่เครื่องมือทางการแพทย์ แต่เป็นสิ่งที่เสริมพลังให้คนในชุมชนดูแลกันเองได้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าใจบริบทของชีวิตคนจริง ๆ และทำให้การดูแลสุขภาพเชื่อมโยงกันระหว่างบ้าน ชุมชน และโรงพยาบาลอย่างไร้รอยต่อ
และแม้ว่าระบบนี้จะถูกออกแบบมาให้เหมาะกับบริบทของสิงคโปร์ แต่แนวคิดเบื้องหลัง คือ มองสุขภาพเป็น “การเดินทาง” แทนที่จะเป็น “เหตุการณ์” เพราะสุขภาพไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงแค่ตอนที่เราล้มป่วย หรือเดินเข้าโรงพยาบาลเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการยาวนานที่ประกอบด้วยการตัดสินใจเล็ก ๆ ทุกวัน ตั้งแต่การเลือกอาหาร การออกไปเดินเล่น การนอนหลับพักผ่อน
ข้อมูลจาก Session: Opening Keynote | Singapore’s Journey to Population Health งาน GITEX Singapore 2025
ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่ออ่านบทความฟรีไม่จำกัด